“กาฬโรคในม้า (African Horse Sickness)”เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับสัตว์ในประเทศไทยมาก่อน หลังกรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบพบม้าในพื้นที่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ล้มป่วยและตายอย่างเฉียบพลันเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จากสำนักงานควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ เร่งเก็บตัวอย่างตรวจสอบข้อมูลทางระบาดวิทยาอาการทางคลินิก และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พบเป็น “กาฬโรคในม้า (African Horse sickness)” ซึ่งมีแมลงดูดเลือดประเภท ริ้น ยุง เห็บ หมัด เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ม้า แนะเกษตรกรหมั่นตรวจสอบสุขภาพม้าและสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ ให้สัตว์อยู่ในคอกที่มีมุ้งหรือตาข่ายเพื่อป้องกันแมลง หากพบสัตว์ป่วยต้องแยกออกจากฝูงเพื่อสังเกตอาการ และต้องมีการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออก ส่วนการติดต่อของโรคนั้นไม่พบรายงานการติดต่อจากสัตว์สู่คน

          โรคกาฬโรคในม้า (African Horse Sickness) เกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้ม Family Reoviridae genus Orbivirus โดยจะเกิดขึ้นในสัตว์เท่านั้น ส่วนใหญ่จะพบเจอในม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ และสุนัข โดยมักทำให้อาการป่วยรุนแรงและตาย ทั้งนี้ไม่มีรายงานการเกิดโรคนี้ในประเทศไทยมาก่อน แต่พบรายงานการเกิดโรคในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ประเทศอียิปต์ สเปน โปรตุเกส โมร็อกโค ปากีสถาน และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งเกิดจากแมลงดูดเลือด เช่น ยุง เห็บ หมัด ที่กัดสัตว์ป่วย และติดเชื้อระหว่างกัน โดยสัตว์ที่กินเนื้อ สามารถติดโรคจากการกินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งมีระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 2-21 วัน เชื้อนี้ถูกยับยั้งได้ด้วยความร้อน มากกว่า 140°F สารละลายฟอร์มาลิน ß-propriolactone อนุพันธ์ของ acetylethyleneimine หรือ การฉายรังสีและถูกทำลายได้ด้วยความเป็นกรดด่างที่ pH น้อยกว่า 6 หรือมากกว่า 12 นอกจากนี้สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น 2% กรดอะซิติกหรือกรดซิตริก ในการฆ่าเชื้อโรคได้

          สัตว์ที่ติดโรค “กาฬโรคแอฟริกา” จะแสดงอาการได้ 4 รูปแบบ คือ (1) แบบเฉียบพลันรุนแรง (peracute หรือ pulmonary form) สัตว์จะมีไข้สูง และแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง รูจมูกขยาย ยืดคอไปข้างหน้า หายใจลำบาก ไอ มีน้ำมูกเป็นฟองสีเหลืองขุ่น (frothy serofibrinous) สัตว์จะตายภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากแสดงอาการ (2) แบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute edematous หรือ (cardiac form) สัตว์จะมีไข้สูงประมาณ 3-6 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง และมีอาการบวมน้ำบริเวณขมับ (supraorbital fossae) เปลือก ตา แก้ม ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณขากรรไกร คอ ไหล่ และหน้าอก แต่ไม่พบการบวมน้ำที่ส่วนล่างของลำตัว เช่น ขา นอกจากนี้จะมีอาการซึม เสียดท้อง มีจุดเลือดออกบริเวณลิ้น และเยื่อบุตา สัตว์จะตายจากภาวะหัวใจล้มเหลว หากสัตว์หายป่วย อาการบวมน้ำจะลดลงใน 3-8 วัน (3) แบบเฉียบพลัน (acute หรือ mixed form) สัตว์จะแสดงอาการทั้งทางระบบทางเดินหายใจ และมีภาวะบวมน้ำ (4) แบบไม่รุนแรง (horsesickness fever) สัตว์จะมีไข้ประมาณ 3-8 วัน โดยไข้จะลดในตอนเช้า และมีไข้สูงในตอนบ่าย อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ คือ ซึม เบื่ออาหาร บวมน้ำบริเวณขมับ เยื่อเมือก มีจุดเลือดออก และหัวใจเต้นเร็ว สัตว์ที่ป่วยแบบไม่รุนแรงมักหายจากอาการป่วยได้ รอยโรคจากการผ่าซาก ในกรณีการเกิดโรคแบบเฉียบพลันรุนแรง (peracute หรือ pulmonary form) พบการบวมน้ำของปอด และมีน้ำในช่องอก ส่วนการเกิดโรคแบบเฉียบพลัน มักพบของเหลวเป็นฟองตั้งแต่โพรงจมูกจนถึงปอด ต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอกและช่องท้องขยายใหญ่และบวมน้ำ ในกรณีการเกิดโรคแบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute edematous หรือ cardiac form) พบการบวมน้ำแบบวุ้น (yellow gelatineous) แทรกในชั้นใต้ผิวหนัง และในกล้ามเนื้อบริเวณหัว คอ และไหล่ พบน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ (hydropericardium) และกล้ามเนื้อหัวใจมีจุดเลือดออก นอกจากนี้อาจพบรอยโรคในทางเดินอาหาร เช่น พบการบวมน้ำ และมีจุดเลือดออกของชั้นเยื่อบุลำไส้ใหญ่ (cecum)

          การควบคุมและป้องกันโรค ควรตรวจสุขภาพสัตว์เป็นประจำ หากพบสัตว์ป่วยต้องแยกออกจากฝูง เพื่อป้องกันการเกิดโรค กำจัดแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะของโรค หรือป้องกันไม่ให้แมลงดูดเลือดสามารถดูดเลือดสัตว์ได้ โดยการให้ม้าอยู่ในคอกที่ใช้มุ้ง หรือตาข่ายในการป้องกันแมลงดูดเลือด โดยเฉพาะในเวลาที่แมลงดังกล่าวออกหากิน เช่น ช่วงเวลาพลบค่ำถึงเช้ามืด หรือใช้ยาฆ่าแมลงที่เหมาะสมพ่นบริเวณคอก และตัวม้า กรณีที่มีการระบาดของโรค ต้องมีการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกบริเวณที่เกิดโรค กรณีที่นำสัตว์ใหม่เข้าฝูง ควรกักไว้อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อตรวจร่างกายและสังเกตอาการป่วย ทำความสะอาดคอกบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

          อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ ขอความร่วมมือให้เจ้าของม้าสังเกตุอาการม้าที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ควบคุมการเคลื่อนย้าย หากพบม้าที่แสดงอาการผิดปกติให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ ที่ปรึกษาฟาร์ม และแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-2256888 หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 เพื่อดำเนินการตรวจสอบและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วนต่อไป

*********************************

 

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์                       เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ