เมื่อถึงช่วงฤดูร้อน หลายท่านคงเคยได้ยินที่ผู้ใหญ่พูดเตือนให้ระวังสุนัขกัดหรือข่วน แล้วจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรืออาจจะเคยเห็นข้อความเตือนที่ปรากฏตามสื่อต่างๆว่า “ช่วงอากาศร้อนประชาชนต้องระมัดระวังโรคพิษสุนัขบ้า” “เตือนอากาศร้อน เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้าระบาด” “โรคร้ายในหน้าร้อน” หรือ “โรคหน้าร้อนที่ต้องระวัง” ซึ่งหนึ่งในหัวข้อเหล่านี้ จะมีโรคพิษสุนัขบ้ารวมอยู่ด้วย แล้วท่านเคยคิดหรือไม่ว่า “โรคพิษสุนัขบ้าเกิดเฉพาะหน้าร้อนจริงหรือ”
ความเข้าใจที่ว่าสุนัขมักจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงฤดูร้อนนั้น อาจเป็นเพราะความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่า อากาศร้อนทำให้สุนัขเครียด หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี ป่วยจนทำให้เป็นบ้า อีกแนวคิดมาจากการคาดคะเนระยะฟักตัวของโรคนี้ ที่จะเฉลี่ยประมาณ 1 – 3 เดือน ซึ่งสุนัขอาจจะได้รับเชื้อจากสุนัขที่ป่วยในช่วงที่มีการติดสัด โดยคาดว่าในช่วงนั้นจะอยู่ราวๆ ประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ซึ่งเวลาที่ผสมพันธุ์นั้น อาจจะมีการต่อสู้และกัดกันเพื่อแย่งชิงตัวเมีย อาจจะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายในช่วงนั้น เมื่อผ่านระยะฟักตัวของโรคแล้ว ก็จะมาแสดงอาการในช่วงฤดูร้อนพอดี อีกทั้งช่วงฤดูร้อนยังเป็นช่วงเด็กนักเรียนต่างกำลังปิดเทอม โอกาสที่จะเล่นคลุกคลีจนถูกสุนัขกัด ข่วน และได้รับเชื้อก็มีมาก จึงอาศัยช่วงดังกล่าวเป็นช่วงการรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คนจึงเข้าใจว่า โรคพิษสุนัขบ้าจะเป็นกันในหน้าร้อนไปโดยปริยาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สุนัขสามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั้งปี หรือทุกฤดูกาล ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศแต่อย่างใด สุนัขที่เป็นโรคสามารถแพร่เชื้อได้ ไม่เพียงเฉพาะช่วงติดสัดเท่านั้น โดยเฉลี่ยสุนัขจะแสดงอาการเป็นสัดประมาณปีละ 1 – 2 ครั้ง ไม่ได้จำกัดว่าเป็นช่วงเดือนไหน ดังนั้นโอกาสที่สุนัขจะได้รับเชื้อจึงไม่จำกัดอยู่แค่เพียงในช่วงเวลาดังกล่าว โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ไม่ใช่โรคประสาทหรือโรคทางจิต ซึ่งเกิดจากเชื้อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies Virus) เชื้อชนิดนี้สามารถติดต่อในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว หนู วัว ควาย ม้า หมู ลิง ชะนี กระรอก กระต่าย เสือ ค้างคาว ฯลฯ แต่ที่พบได้มากที่สุดคือ สุนัข รองลงมา คือ แมว โดยติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์และสัตว์สู่คน สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจะขับเชื้อออกมากับน้ำลายเป็นระยะ เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์อื่น ทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก เยื่อบุตา จมูก ปาก
โปรดจำไว้ว่าโรคพิษสุนัขบ้านั้น เป็นโรคที่เกิดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดที่ร้ายแรง ยังไม่มียารักษาให้หายได้ และมีระบาดอยู่ทั่วไป จึงควรให้ความสำคัญ ใส่ใจการป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงของท่าน และเลี้ยงสัตว์ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมโดยการพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี หรือตามที่สัตวแพทย์กำหนด ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานและสัตว์เลี้ยงของท่าน นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยกันกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็ว ตามพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬากรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อีกด้วย
ด้วยความปรารถนาดีจาก กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
*********************************
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ