ประดู่หางดำเป็นไก่พื้นเมืองไทยที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงกระจายอยู่ทั่วไปตามหมู่บ้านในทุกภูมิภาคของไทยในชื่อที่ใช้เรียกกันว่าไก่อู ซึ่งอาจจำแนกตามลักษณะภายนอกและสีขนออกได้เป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นพันธุ์ดี และมีชื่อเรียกกันมาตั้งแต่โบราณ เช่น ไก่เหลืองหางขาว, ประดู่หางดำและอื่นๆ โดยในสมัยก่อนนิยมเลี้ยงแบบปล่อยอิสระไม่ได้คำนึงถึงสายพันธุ์ และการออกไข่ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะไม่ได้แสวงหาผลกำไร นิยมเลี้ยงไว้กินเนื้อและไข่เพียงเท่านั้น แต่เมื่อสำรวจในเชิงปริมาณพบว่าไก่ที่มีจำนวนเป็นกลุ่มเป็นก้อนมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ เหลืองหางขาว, ประดู่หางดำ, แดง และชี กลุ่มเหล่านี้ยังไม่สามารถระบุได้แน่นอนว่าเป็นพันธุ์ หรือสายพันธุ์ หรือตระกูล เพราะว่ายังไม่ได้รับการจำแนกอย่างมีหลักวิชาการที่ชัดเจนเพียงพอ

          กลุ่มนักวิชาการจากกรมปศุสัตว์ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมมือกันดำเนินการรวบรวมไก่พื้นเมืองในกลุ่มที่สำคัญๆ เพื่อสร้างพันธุ์พื้นฐานขึ้นจำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ประดู่หางดำ เหลืองหางขาว แดง และชี เป็นตัวแทนของไก่พื้นเมืองไทย และจดทะเบียนในฐานะที่เป็นพันธุ์แท้ทั้ง 4 สายพันธุ์

          ไก่ประดู่หางดำ เป็น 2 ใน 4 สายพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมมือกันคัดเลือกพันธุ์ขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 เป็นต้นมา โดยทำการปรับปรุงพันธุ์ที่ศูนย์เครือข่ายวิจัย และพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ และเมื่อประมาณปีพ.ศ.2549 คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสานวิทยาเขตกาฬสินธุ์ ร่วมมือกันปรับปรุงพันธุ์ไก่ประดู่หางดำ และชี โดยปรับปรุงลักษณะที่สำคัญ 3 ลักษณะคือ "โตดี ไข่ดก อกกว้าง" ซึ่งปรากฏว่าพันธุ์ประดู่หางดำเป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองที่ผลออกมานิ่งที่สุดหลังจากผ่านการปรับปรุงพันธุ์ และเป็นลักษณะที่ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งสายพันธุ์ไก่ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์นั้นก็คือ “ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ” เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองยอดนิยมที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะมีลักษณะเด่นตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งในด้านเนื้อและลักษณะภายนอก ทำให้ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่เป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกรในประเทศแล้ว ยังแพร่กระจายพันธุ์ไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในรูปของลูกพันธุ์และไก่ชำแหละ เช่น พม่า เขมร ฯลฯ อีกด้วย

          ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ของไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ เพศผู้ มีสร้อยคอสีแดงประดู่ ขนหาง ขนลำตัว แข้ง ปากสีดำ ใบหน้าสีแดงถึงแดงอมดำ เพศเมีย ลักษณะเหมือนเพศผู้ยกเว้นที่ไม่มีขนสร้อยคอ

          ปัจจุบันเครือข่ายฟาร์ม/เกษตรกรของกรมปศุสัตว์ได้มีการผลิตลูกไก่พันธุ์นี้ทั้งพันธุ์แท้และลูกผสม กว่า 1.5 ล้านตัว/ปี ส่งตลาดอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดอาชีพที่เกี่ยวข้องกับไก่พื้นเมืองที่ยั่งยืนขึ้น ส่งผลให้เกิดเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ผู้ผลิตพันธุ์ ผู้เลี้ยงไก่ ผู้ชำแหละไก่ ผู้จำหน่ายไก่สดในตลาดชุมชน ร้านอาหาร สำหรับตลาดจำหน่ายไก่สดประดู่หางดำเชียงใหม่หลักๆ แม้จะมีในหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน แต่ก็เป็นในระดับตลาดชุมชน ซึ่งราคาที่จำหน่ายยังได้ไม่สูงเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับรสชาติและคุณค่าทางการบริโภคของไก่ โดยข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่มีปริมาณของไขมัน คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับไก่เนื้อ นอกจากนี้ยังมีรสชาติอร่อยถูกปากคนไทย มีเนื้อแน่นกว่า (มีค่าแรงตัดผ่านเนื้อที่สูงกว่าไก่เนื้อถึงเกือบ 2 เท่าตัว)  จึงควรที่จะมีการเพิ่มคุณค่าและศักยภาพของไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ซึ่งเป็นพันธุ์ไก่ของไทยไม่ต้องนำเข้าพันธุ์ ในการเป็นสินค้าที่สามารถขยายไปสู่ตลาดของผู้บริโภคที่สูงกว่าหรือตลาดในเมือง ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีรายได้สูงกว่า และต้องการสินค้าที่มีรสชาติและดีต่อสุขภาพ

          จากผลที่กรมปศุสัตว์ ได้มีการพัฒนาระบบการผลิตไก่พื้นเมืองไทยสู่ระบบฟาร์มอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 มีฟาร์ม/เกษตรกรร่วมเป็นเครือข่ายผู้ผลิต ทำให้มีไก่พื้นเมือง/ลูกผสมพื้นเมืองออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการวิจัยพัฒนาระบบการเลี้ยงการผลิตของเกษตรกรตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อให้เข้าสู่การเป็นอาหารปลอดภัย (food safety) ต่อผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่จนถึงโรงชำแหละไก่ ผลที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่ การพัฒนาการเลี้ยงขุนไก่พื้นเมืองให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม ได้ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่พื้นเมืองประดู่หางดำเชียงใหม่ที่ถูกสุขลักษณะและสุขอนามัยเหมาะสมต่อประชาชนในมาตรฐานเพื่อให้เป็นไปตาม GAP (Good Agricultural Practice)

          การพัฒนาการผลิตไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่สู่การจำหน่ายในตลาดซุปเปอร์มาเก็ต หรือตลาดพรีเมี่ยมของไทย อาทิ เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ ท็อปมาเก็ต สิ่งที่เป็นข้อกำหนดเบื้องต้น คือต้องเป็นไก่ที่มาจากฟาร์มเลี้ยงมาตรฐาน และโรงฆ่ามาตรฐานที่ได้การรับรองจากกรมปศุสัตว์ มีกระบวนการที่ได้มาตรฐานในการฆ่า รวมทั้งการแยกชิ้นส่วนไก่ที่เป็นสากลสำหรับวางจำหน่ายเป็นไก่สดแยกชิ้นส่วน ได้แก่ เนื้ออก สะโพก ปีก แข้ง เป็นต้น ดังนั้นการพัฒนาโครงการวิจัยที่สำคัญอยู่ที่การพัฒนาฟาร์มไก่พื้นเมืองขุน และโรงฆ่าไก่พื้นเมืองขนาดเล็ก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนในการขอรับรองมาตรฐาน กรมปศุสัตว์มีเพียงแต่มาตรฐานฟาร์มไก่เนื้อขุนทางการค้า และมาตรฐานโรงฆ่าขนาดใหญ่ ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือสร้างได้เพราะต้นทุนสูงมาก นอกจากนี้เกษตรกร/ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ขาดระบบและแรงจูงใจในการพัฒนาขบวนการผลิต ที่เป็นมาตรฐานตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่จนถึงโรงฆ่า เมื่อได้งานวิจัยพัฒนาที่สร้างความพร้อมกับการสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภค และส่งต่อให้ถึงมือเกษตรกร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์จริง จะเป็นการยกระดับการผลิตและการตลาดไก่พื้นเมืองไทยสู่ตลาดไฮเอนด์ระดับประเทศ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของไก่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 50 % 

          มีการนำพันธุ์ไก่ไปใช้ประโยชน์ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยง และจำหน่ายไก่พื้นเมือง/ลูกผสมพื้นเมืองฯ ดังนี้

1. เป็นพ่อพันธุ์ในการผลิตลูกไก่ลูกผสมพื้นเมืองฯ ของฟาร์มเอกชน และกรมปศุสัตว์ ได้แก่

- ฟาร์มเอกชนขนาดใหญ่ (การผลิตมากกว่าปีละ 300,000 ตัว/ฟาร์ม) ได้แก่ บริษัทเกษตรฟาร์มจำกัด สมุทรสาคร (ตั้งแต่ปี 2547 – 2553), บริษัทฟาร์มไก่พันธุ์ 111 จำกัด ชลบุรี (ปี 2549 – 2550), บม.จ.เจริญโภคภัณฑ์อีสาน นครราชสีมา (ปี 2549 – 2550)

- ฟาร์มเอกชนขนาดกลาง (การผลิตปีละ 60,000 – 100,000 ตัว/ฟาร์ม) ได้แก่ จักรพงษ์ฟาร์ม ลำพูน (ตั้งแต่ปี 2549 – 2553), บ้านสวนแพรฟาร์ม เชียงใหม่ (ปี 2547 – 2553), สัมพรรณฟาร์ม เชียงใหม่ (ปี 2552 – 2553)

- ฟาร์มของกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์วิจัยฯ สัตว์ปีก เชียงใหม่ พะเยา กระบี่  

2. ลูกไก่พันธุ์แท้ ปีละหลายหมื่นตัว ที่ผลิตจากศูนย์วิจัยฯ ของกรมปศุสัตว์ ถูกจำหน่ายให้เกษตรกร เพื่อนำไปเลี้ยงขุนขาย เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ มีเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายเลี้ยงขุน ไก่ประดู่หางดำพันธุ์แท้ เป็นอาชีพ กว่า 20 ราย

3. มีการอนุรักษ์โดยให้ไก่ประดู่หางดำกลับไปสู่ถิ่นกำเนิดเดิม ในรูปเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงไก่ประดู่หางดำของกรมปศุสัตว์ คือนอกจากเก็บรักษาพันธุ์แท้ไว้เป็นฝูงต้นพันธุ์แล้ว ก็มีการกระจายไก่พันธุ์แท้เหล่านี้ กลับไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงไก่พ่อ-แม่พันธุ์ 12 ตัว/ราย ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรในเครือข่าย กว่า 200 ราย มีลูกไก่เกิดในหมู่บ้านประมาณ 50,000 ตัว

4. สนับสนุนไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลได้แก่

- โครงการอนุรักษ์ไก่พื้นเมืองปีงบประมาณ 2558 โดยกระจายพันธุ์ไก่พื้นเมือง ลงในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว สุรินทร์ ขอนแก่น เลย สุราษฎร์ธานี ยะลา เพิ่มจำนวนแม่ไก่พื้นเมืองเพิ่มอาหารโปรตีนในชุมชน และสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่น้อยกว่า 145 ล้านบาท ผลผลิตลูกไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านตัว

- โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปีงบประมาณ 2559 ในพื้นที่ 21 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หน่วยงานที่ดำเนินการ 18 หน่วย ได้แก่ ทับกวาง สัตว์ปีก สระแก้ว จันทบุรี สุรินทร์ ลำพญากลาง อุบลราชธานี ท่าพระ นครพนม เลย เชียงใหม่ พะเยา ตาก พิษณุโลก หนองกวาง สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี ยะลา ผลิตและกระจายไก่พื้นเมืองจำนวน 156,660 ตัว สร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่น้อยกว่า 2,759,518,000 ล้านบาท ผลผลิตลูกไม่น้อยกว่า 85 ล้านตัว

5. มีการจำหน่ายและสนับสนุนพันธุ์ไก่ ให้แก่สถาบันการศึกษา และโครงการพระราชดำริต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิทยาลัยเกษตรฯเชียงใหม่ วิทยาลัยเกษตรฯลำพูน มูลนิธิโครงการหลวง ศูนย์พัฒนาการศึกษาห้วยฮ่องไคร้ฯ โครงการฟื้นฟูสภาพป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการศูนย์การเรียนรู้ฯ

          ต่อมาได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เพิ่มเติมเป็น “ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก” เป็นผลงานการต่อยอดการวิจัยที่เกิดขึ้นของกรมปศุสัตว์ และสำนักงานพัฒนาการเกษตรวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดยการต่อยอดจากไก่พื้นเมืองประดู่หางดำผสมกับไก่พันธุ์ไข่ “เรดฮอร์น” เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากในด้านผลผลิต “ไข่” จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกันสร้างไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดกให้เกิดขึ้น

          จากความสำเร็จของการปรับปรุงพัฒนาไก่สายพันธุ์ประดู่หางดำ จะเห็นได้ว่า ไก่ที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ มีลักษณะเด่นตรงกับความต้องการของตลาด สามารถให้ไข่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม เป็นการลดการนำเข้าพันธุ์ไก่จากต่างประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง ยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีในครัวเรือนของเกษตรกร เป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่ไม่ต้องจัดซื้อ สามารถนำไปสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวได้อีกด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. (053) 311-836, (086) 090-6020

*****************************************************

ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์                                                          เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์  ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ