ไก่ดำนครไทย มีถิ่นกำเนิดที่ตำบลห้วยเฮี้ย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ลักษณะประจำพันธุ์ เพศผู้ มีขนสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีกสีแดงแกรมเหลือง ขนใต้คอ ใต้ท้อง และโคนขา สีแดงแกรมเหลืองแกรมดำ หางดำแกรมน้ำตาล เพศเมีย มีสีขนเหลืองทอง หรือสีดำสร้อยทอง ทั้งเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะสีดำทั้ง 8 ประการ คือ ผิวหนังดำ ปากดำ ลิ้นดำ หงอนดำ เนื้อดำ กระดูกดำ แข้งขาดำ และเครื่องในดำ

          จากการสืบประวัติมีอยู่กับชาวเขาเผ่าม้งที่ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์มานานแล้ว ว่ากันว่ามาพร้อมกับชาวเขาที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย(ไม่น้อยกว่า 50 ปี) แต่ระยะต่อมาไม่มีการรักษาพันธุ์ไก่ดำไว้อย่างจริงจัง จึงปล่อยให้ผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ และในธรรมชาติก็มีไก่พื้นเมืองชนิดไก่ชน ไก่แจ้อยู่ด้วย ไก่ดำจึงได้กลายพันธุ์เป็นส่วนใหญ่จนเหลือน้อย ระยะต่อมาชาวเขาเผ่าม้ง และเกษตรกรใกล้เคียงมีความต้องการไก่ดำ  เพราะมีความเชื่อว่าถ้าได้กินไก่ดำจะทำให้สุขภาพแข็งแรง รวมทั้งสมรรถภาพทางเพศด้วย ประมาณปี พ.ศ. 2552 นายธัญลักษณ์ แซ่ลี ได้รวบรวมไก่ดำในหมู่บ้านเข็กน้อย โดยคัดเลือกไก่ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนั้น เพศเมียประมาณ 100 เพศผู้ประมาณ 20 ตัว เอามาทำพันธุ์ ระยะแรกลูกที่เกิดกระจัดกระจายมาก ความดำไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงพันธุ์ไก่ดำ ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้ไปหาไก่ดำเพื่อนำมาปรับปรุงให้มีความดำทั้ง 8 ประการ คือหนังดำ แข้งขาดำ ปากดำ หงอนดำ ลิ้นดำ เนื้อดำ และกระดูกดำ จึงได้ไปซื้อลูกไก่ดำที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง (แม่สลอง) มา 1 ชุด 500 ตัว และปรึกษากับศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์พิษณุโลก ถึงแนวทางในการปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์พิษณุโลก จึงแนะนำให้ผสมข้ามพันธุ์กับไก่ในพื้นที่ และทำการคัดเลือกโดยเน้นความดำทั้ง 8 ประการ ขณะนั้นมีแม่ไก่ 200-300 แม่ เมื่อลูกออกมาก็คัดลักษณะที่ต้องการไว้ และผสมในสายสัมพันธ์ (Inter se matting) และกำหนดลักษณะภายนอกตัวเมียให้เป็นสีเหลืองทอง หรือสีดำสร้อยทอง น้ำหนัก 1.8-2 กก. เพศผู้ คัดเลือกลักษณะภายนอกเพศผู้ให้มีขนสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีกสีแดงแกรมเหลือง ขนใต้คอ ใต้ท้อง และโคนขา สีแดงแกรมเหลืองแกรมดำ หางดำแกรมน้ำตาล น้ำหนักไม่น้อยกว่า 2.5-2.7 กิโลกรัม และทำการผสมในชั่วต่อ ๆ มาถึงชั่วที่ 8 ความดำดีมาก และได้เลี้ยงมาจนถึงปัจจุบัน

          ปัจจุบันมีแม่พันธุ์ 300-400 แม่ หากท่านใดสนใจไก่ดำนครไทย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์พิษณุโลก โทร. 055-906311 ในวันและเวลาราชการ

                                                              *****************************************************

ข้อมูล : ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์พิษณุโลก        

เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์  ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ