โรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย หรือ นิยมเรียกตามอาการว่า "โรคคอบวม" เป็นโรคติดเชื้อที่รุนแรง เป็นสาเหตุการตายของโคและกระบือเนื่องจากโคและกระบือเป็นสัตว์ที่มี ความไวต่อเชื้อ แต่โรคนี้จะมีความรุนแรงน้อยลงในสัตว์อื่นๆ เช่น แกะ สุกร ม้า อูฐ กวาง และช้าง เป็นต้น โดยพบการเกิดโรคได้ทั่วโลก ทั้งเอเซีย ยุโรป แอฟริกา และพบอุบัติการการเกิดโรคสูงสุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอัตราการป่วยขึ้นกับระดับภูมิคุ้มกันและสภาพแวดล้อมทั้งสภาพอากาศและการจัดการอัตราการป่วยจะสูงใน ฝูงที่เลี้ยงแออัดและชื้นแฉะสัตว์ที่แสดงอาการมีอัตราการตายสูงเกือบ 100% พบว่ากระบือมีอัตราการป่วย และตายสูงกว่าในโค

สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ พาสทูเรลลา มัลโตซิดา (Pasteurella multocida) พบในประเทศต่างๆ ของเอเชียและอาฟริกาเป็นส่วนมาก การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นในสภาวะที่สัตว์เกิดความเครียด เช่น ต้นหรือปลายฤดูฝน การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป ในสภาวะความเครียดเช่นนี้ สัตว์ที่เป็นตัวเก็บเชื้อ (carrier) จะปล่อยเชื้อออกมาปนเปื้อนกับอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนอยู่เข้าไป ก็จะป่วยเป็นโรคนี้และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่ายต่างๆ เช่นน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ทำให้โรคแพร่ระบาดต่อไป เชื้อนี้เมื่อปนเปื้อนอยู่ในแปลงหญ้าจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในดินที่ชื้นแฉะอาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 เดือน

อาการของสัตว์เมื่อติดโรค เชื้อ Pasteurella multocida จะทําให้เกิดการอักเสบชนิดมีจุดเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดทําให้โลหิตเป็นพิษ ในรายที่ป่วยแบบรุนแรงอาการจะเริ่มจากไข้สูง ซึม และไม่อยากเคลื่อนไหว ต่อมาจะพบว่า มีน้ำลาย น้ำมูกไหล ไม่เคี้ยวเอื้อง มีการบวมแข็ง ร้อนบริเวณหน้าคอ หัวไหล่ และบริเวณหน้าอก เยื่อเมือกคั่งเลือด อาการทางระบบหายใจคือ อ้าปากหายใจ หายใจหอบลึก ยืดคอไปข้างหน้า หายใจมีเสียงดัง ลิ้นบวมจุกปาก ต่อมาจะมีอาการเสียดท้อง ท้องอืด อุจจาระมีมูกเลือดปน มักจะล้มและตายภายใน 6-24 ชั่วโมง หลังจากสังเกตพบอาการ กรณีสัตว์ป่วยไม่รุนแรงจะตายภายใน 4-6 วัน สัตว์ที่แสดงอาการมีโอกาสหายน้อยมาก และมักไม่พบแบบเรื้อรัง เมื่อผ่าซากสัตว์ จะพบสารลักษณะคล้ายวุ้นแทรกอยู่ระหว่างผิวหนังและกล้ามเนื้อตรงบริเวณที่บวม มีจุดเลือดออกที่ต่อมน้ำเหลืองและหัวใจ ปอดจะมีเลือดคั่ง พบเยื่อหุ้มปอดหนาตัวขึ้น เนื้อปอดแข็ง ภายในหลอดลมมีของเหลวปนฟองอากาศ (frothy exudate) ตับคั่งเลือดบวมขยายใหญ่ ลำไส้อักเสบ ต่อมน้ำเหลืองบวมน้ำขยายใหญ่ การรักษาจะได้ผลดีเมื่อทำการรักษาขณะสัตว์เริ่มแสดงอาการป่วย โดยให้ยาปฏิชีวนะ หรือยาซัลฟาต่างๆ เช่น อ๊อกซีเตตาไซคลิน เทอราไมซิน เพนนิซิลิน ซัลฟาไดมิดิน เป็นต้น

ในปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้จัดระบบเฝ้าระวังโรคอย่างเคร่งครัด ต่อเนื่อง ตั้งแต่พบโรคจนถึงระยเวลาที่สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายจากโรคคอบวม กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับโค และกระบือ ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยใช้วัคซีนเชื้อตายชนิดสื่อน้ำในน้ำมัน วัคซีนนี้จะสามารถคุ้มโรคได้นาน 1 ปี หลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนซ้ำทุกปี รวมทั้งสังเกตอาการโค และกระบือ ของตนเอง หากพบสัตว์แสดงอาการป่วย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด หรือแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ที่ 063-2256888 หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0 โดยทันที เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และขอย้ำให้เกษตรกรผู้ลี้ยงสัตว์เข้าใจว่า “โรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย หรือโรคคอบวม เป็นโรคที่เกิดในโค-กระบือ เท่านั้น สัตว์ชนิดอื่นรวมทั้งคนไม่เป็นโรคดังกล่าว”

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์

เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์  ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ