เมื่อหลายสิบปีก่อนชาวจีนต่างถิ่น ได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในเมืองไทย โดยได้นำพืชพันธุ์และสัตว์เลี้ยงจากประเทศจีนมาด้วย ซึ่งหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่ชาวจีนนำมา ก็คือ “เป็ด” โดยมากนิยมนำมาเลี้ยงในเขตพื้นที่จังหวัดติดชายทะเล เนื่องจากสมัยก่อนอาหารเป็ดในธรรมชาติ กุ้ง หอย ปู ปลา มีมาก อาหารพลังงานก็ได้จากการปล่อยลงทุ่งหาเก็บกินข้าวตก เหลือค้างทุ่ง ทำให้ไข่ดก ไข่ดี ไข่แดง เป็ดมีสุขภาพแข็งแรงดี ทนทาน ต่อมาเมื่อมีการนำเป็ดไข่สายพันธุ์อื่นที่ไข่ดก รวมทั้งการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่เข้ามาเลี้ยงกันมากขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไป อาหารในธรรมชาติลดน้อยลง ความนิยมเลี้ยงเป็ดพันธุ์นี้ลดน้อยลง กรมปศุสัตว์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุ์ไว้โดย นำมาเลี้ยงปรับปรุงพันธุ์ขยายพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก และจำหน่ายกระจ่ายพันธุ์ให้เกษตรกรทั่วไป สำหรับกลุ่มเกษตรกร ตำบลบ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และกลุ่มเกษตรกรอำเภอ บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เป็นกลุ่มเกษตรกร ที่มีความสนใจในการเลี้ยงเป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำได้ซื้อไปรวมถึงได้รับการสนับสนุนจากทางราชการในการเลี้ยงและให้ผลผลิตที่ดีสามารถจำหน่ายไข่ในรูปไข่สดและไข่เค็ม
ลักษณะประจำพันธุ์ เพศผู้ หัวและคอมีสีเขียวแก่ชัดเจนและสีนี้จะค่อย ๆ จางลงจนเป็นสีน้ำเงินปนดำ เมื่ออายุมากขึ้นขนหาง 2 - 3 เส้น จะงอโค้งขึ้นด้านบน ปลายขนหางและปลายขนปีกจะมีสีน้ำตาลดำ ขนลำตัวสีเทา แต่ขนจากกลางลำคอจนถึงไหล่ และหน้าอกด้านหน้าจะมีสีน้ำตาลเข้ม ปาก แข้งและเท้าสีดำ เพศเมีย มีขนสีดำตลอดลำตัว หน้าอกสีขาว ปาก แข้งและเท้าสีดำ
ลักษณะเด่นของเป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ คือ เลี้ยงง่าย ต้านทานโรค แข็งแรง เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยในชนบทและสำหรับผสมข้ามพันธุ์กับเป็ดพันธุ์กบินทร์บุรี จะให้ลูกผสมที่มีผลผลิตสูง ไข่ดก ไข่แดง แข็งแรง ทนทาน หาอาหารกินเก่ง ส่วนลักษณะทางเศรษฐกิจนั้น อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 140-180 วัน น้ำหนักตัวเมื่อเริ่มไข่ 1,450-1,500 กรัม น้ำหนักไข่ฟองแรก 62 กรัม มีผลผลิตไข่ เฉลี่ย 280-300 ฟอง/แม่/ปี เพศผู้น้ำหนักตัว 1,600-1,800 กรัม เพศเมียน้ำหนักตัว 1,500-1,600 กรัม
การเลี้ยงดูเป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ จากประสบการณ์ของเกษตรกรที่เลี้ยงเป็ดไข่จนประสบความสำเร็จหลายท่านนั้น จะมีการดูแลเป็ดโดยเริ่มจากการนำลูกเป็ดทั้งหมดมากก โดยตีกล่องสี่เหลี่ยมพร้อมเปิดไฟให้กับลูกเป็ดประมาณ 7 วัน แล้วย้ายออกมาข้างนอก อาหารที่ใช้เลี้ยงลูกเป็ดก็จะเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 20 ขึ้นไป ที่ใช้สำหรับเลี้ยงเป็ดไก่ทั่วไป ซึ่งจะช่วยทำให้โครงสร้างของเป็ดดีขึ้น เมื่อเห็นว่าลูกเป็ดแข็งแรงดีแล้วนำออกจากที่กก มาเลี้ยงในคอกที่เตรียมไว้ จากนั้นก็จะเปลี่ยนอาหารแบบเชิงประหยัดต้นทุน คือให้กินพวกรำข้าว ต้นกล้วยสับ แหน และหญ้าทั่วไปที่สามารถหาได้ตามท้องที่มาให้กินวันละประมาณ 3 ครั้ง และจะให้วิตามินบี 12 ผสมกับน้ำเสริมให้เป็ดกินเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง เมื่อเป็ดไข่อายุได้ประมาณ 2 เดือน ก็จะสลับเล้าปล่อยลงเล่นน้ำในสระที่เตรียมไว้ โดยจะไม่ขังให้อยู่ภายในเล้าเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญสำหรับการเลี้ยงเป็ดคือควรแบ่งพื้นที่สำหรับเดินเล่นและว่ายน้ำให้ด้วย จะยิ่งทำให้เป็ดแข็งแรงและต้านทานต่อโรคได้ดี เมื่อเป็ดอายุได้ประมาณ 4-5 เดือน จะเริ่มให้ไข่ฟองแรกออกมา ซึ่งเป็ดจะออกไข่วันละฟองต่อตัว อาหารที่จะให้เป็ดกินช่วงอายุนี้ถือว่าสำคัญมาก นอกจากกล้วยสับ รำข้าว แล้วยังจะต้องให้กินอาหารข้นด้วยทุกวัน เพื่อเป็นการเสริมการออกไข่ที่ดี ส่วนแหนนำไปใส่ในสระน้ำให้เป็ดหากินเอง เป็ดจะอารมณ์ดี ทั้งนี้ในส่วนของการเตรียมพื้นที่เลี้ยงเป็ดนั้น จะมีการเตรียมพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แบ่งภายในโรงเรือนให้มีคอกกั้นเป็น 3 เล้า เพื่อเลี้ยงเป็นให้มีขนาดรุ่นที่แตกต่างกัน ประมาณ 3 รุ่นอายุ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไข่ขาดช่วง เพราะถ้าเป็นรุ่นเดียวกันมากเกินไป เวลาที่ไม่ออกไข่เหมือนกันทั้งหมด ก็จะทำให้ประสบปัญหาไข่ไม่พอขาย ไม่สามารถขายไข่ได้ต่อเนื่อง
ในส่วนของโรคที่จะเกิดกับเป็ดนั้น ต้องหมั่นสังเกตอาการของเป็ดทุกวันว่ามีอาการอย่างไร เช่น ถ้าจำนวนไข่ที่เก็บได้ลดลง ก็ให้สันนิษฐานว่าเป็ดภายในเล้าอาจจะไม่สบาย ส่วนการทำวัคซีนจะทำปีละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคเพล็ก (Duck plague) และโรคอหิวาต์เป็ด (Duck cholera) ซึ่ง 2 โรคนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากถ้าเกิดขึ้นกับเป็ด
การเลี้ยงเป็ดสามารถนำมาเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมได้ และไม่มีอะไรยาก เพียงศึกษาอุปนิสัยและมีการจัดการที่ดี ซึ่งสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องสายพันธุ์ จะต้องเลือกสายพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ สายพันธุ์ที่ถูกต้อง ก็จะทำให้การเลี้ยงเป็ดประสบความสำเร็จ
ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์
เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ