โรควัวบ้า (Bovine Spongiform Encephalopathy: BSE) เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมโปรตีนที่ผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า พรีออน (Prion) ในโค ซึ่งมีการติดต่อและแพร่กระจายของโรคผ่านการกินอาหารสัตว์ที่มีการ ปนเปื้อนพรีออน โดยเฉพาะในเนื้อและกระดูกป่น โดยโรควัวบ้ามีความสําคัญทางสาธารณสุขเนื่องจากเป็นโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรค Variant Creutzfeldt - Jakob Disease (COD) ในคน อันเกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ปนเปื้อนพรีออน ซึ่งก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท ดังนั้นการป้องกันโรคในปัจจุบันคือ การป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนของพรีออนในห่วงโซ่อาหาร
โรควัวบ้าเป็นโรคที่ทำ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ โคที่ติดโรคอาจมีอาการปกติอยู่นาน 2 ถึง 8 ปี แต่เมื่อโรคพัฒนาแล้วจะมีผลต่อสมอง ทำให้มีอาการตัวสั่น เดินกระโผลกกระเผลก ส่ายตัวไปมา พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น ตื่นเต้น ดุร้าย และคลั่ง และอาจมีน้ำหนักหรือน้ำนมลดลง โคที่ติดเชื้อทุกตัวจะตาย โรควัวบ้าเป็นโรคของโค แต่จากการทดลองพบว่าแกะ แพะ สุกร มิ้งค์ หนู ลิงมาโมเซท และลิงบางชนิดติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน
คนติดโรควัวบ้าได้จากการกินเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อโรควัวบ้า และก่อให้เกิดโรคที่เรียกว่า Variant Creutzfeldt-Jakob (vCDJ) อาการที่พบคือ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงและการรับความรู้สึกผิดปกติ และเมื่อโรคพัฒนามากขึ้นจะทำ ให้การเคลื่อนไหวผิดปกติความจำเสื่อม ตามด้วยการหมดสติและเสียชีวิตในที่สุด ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค vCDJ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายในหนึ่งปีหลังจากแสดงอาการ ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักรในช่วงที่เกิดโรควัวบ้าระบาดในช่วงปลายทศวรรษที่ 80
ข้อมูลทางระบาดวิทยาพบรายงานการเกิดโรควัวบ้าครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อปีพ.ศ. 2529 ต่อมาพบการระบาดในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น และในปีพ.ศ. 2544 มีการรายงานพบโรคนี้ครั้งแรกในเอเชียที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้มีรายงานเพิ่มเติมในประเทศต่างๆ เช่น อิสราเอล แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งการระบาดของโรคส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากแก่อุตสาหกรรมการค้า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และเกิดข้อจํากัดทางการค้าของสินค้าจากโค เนื่องจากผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยทางอาหาร
แม้ว่าประเทศไทยได้ออกกฎระเบียบต่างๆ ในการห้ามนําเข้า และป้องกันการใช้ประโยชน์จากเนื้อและกระดูกป่นที่มีต้นกําเนิดจากประเทศที่มีการรายงานโรค อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของโรคดังกล่าวยังคงมีอยู่ เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคที่เคยมีรายงานพบว่ามีระยะเวลาตั้งแต่ประมาณ 2 - 8 ปี โดยในประเทศที่เคยพบโรคนี้ อาจมีการปนเปื้อนของพรีออนในปศุสัตว์ได้นานประมาณ 5 - 10 ปี ก่อนสัตว์จะแสดงอาการป่วย ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้จัดทําโครงการเฝ้าระวังโรควัวบ้าด้วยการเก็บตัวอย่างสมองโค โดยเน้นโคที่แสดงอาการทางระบบประสาท ล้มและลุกไม่ได้ หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ตลอดจนสุ่มเก็บสมองของโคปกติจากโรงฆ่าสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการในการเฝ้าระวังโรค และประกอบการรับรองสถานภาพประเทศที่มีความเสี่ยงต่อโรควัวบ้าต่ำ (Negligible risk) จากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางอาหารและสาธารณสุขให้แก่ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าของไทยต่อไป
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์
เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ