จากกรณีโลกโซเชียลฯ มีการแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับผู้บริโภคที่สั่งอาหารเดลิเวอรี่แล้วพบว่า เนื้อสัตว์ในอาหารที่สั่งมีความผิดปกติ ปรากฎลักษณะคล้ายหนองปนแทรกอยู่ในเนื้อสุกรที่ใช้ปรุงอาหาร สร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภคและผู้ที่รับทราบข่าวโดยทั่วไป
การเกิดฝีและหนองในเนื้อหมู เกิดจากการที่ร่างกายมีแผล และมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปในบาดแผล หลังจากนั้นมีการทำปฏิกิริยาภายในร่างกาย โดยเม็ดเลือดขาวจะเข้าไปต่อสู้กับเชื้อโรค จนกระทั่งมีการตายเกิดขึ้น ซากของเม็ดเลือดขาวหรือจุลินทรีย์เหล่านั้นก็จะเกิดเป็นหนองขึ้น ในขณะเดียวกัน ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อเส้นใย (fibrous tissue) เข้ามาห่อหุ้มหนองเหล่านั้นเพื่อจำกัดบริเวณ ไม่ให้เชื้ออันตรายเหล่านั้นกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ในร่างกาย สุดท้ายจึงกลายเป็นถุงฝีหนองที่แทรกในกล้ามเนื้อ ก้อนฝีหนองที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความสะอาดของผิวหนังสุกรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดยาหรือวัคซีน วิธีการและตำแหน่งที่ฉีด รวมถึงความสะอาดของโรงเรือน เป็นต้น
สำหรับความกังวลใจว่าจะติดต่อสู่คนหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฝีหนอง ไม่ใช่ “โรค” จึงไม่ติดต่อระหว่างสัตว์ด้วยกัน และไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คนด้วย หากเผลอรับประทานส่วนนั้นเข้าไป อาจส่งผลต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค ทำให้เกิดปัญหาด้านทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ท้องร่วงได้
กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือร้านอาหารต่างๆ ทั้งที่ขายหน้าร้านหรือขายผ่านบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ในช่องทางต่างๆ ให้ตรวจสอบวัตถุดิบเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหารทุกครั้ง หากพบสภาพเนื้อสัตว์ผิดปกติ เช่น สีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เข็มโลหะ จุด/ก้อนฝีสีเหลือง เขียว หรือขาว ลักษณะคล้ายเม็ดสาคู โดยเฉพาะในเนื้อส่วนคอของสุกร ไม่ควรนำมาปรุงอาหารให้แก่ลูกค้า ควรแยกส่วนที่มีปัญหาออกทุกครั้ง และเมื่อพบความผิดปกติของเนื้อ ควรแจ้งแหล่งที่ซื้อเนื้อสัตว์เพื่อให้รับผิดชอบและคัดเลือกคุณภาพเนื้อสัตว์ให้ดีก่อนจำหน่ายต่อไป
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ขอเตือนไปยังผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ทั้งแผงจำหน่ายเนื้อ และร้านอาหาร ที่นำเนื้อสัตว์มาปรุงอาหาร การจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ไม่มีคุณภาพ เช่น เป็นฝี หนอง เจอเข็ม มีสี หรือมีกลิ่นผิดปกติ หากปรากฏข่าวไม่ใช่แค่จะทำให้ร้านอาหารของท่านเสียชื่อเสียง แต่ยังถือเป็นการจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ขายมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าประเภทเนื้อสัตว์และไข่สด กรมปศุสัตว์ขอเชิญชวนร้านอาหาร รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไป ให้เลือกซื้อวัตถุดิบเนื้อสัตว์และไข่สดจากสถานที่จำหน่ายที่ได้รับการรับรอง “ปศุสัตว์ OK” เนื่องจากสามารถมั่นใจสินค้าว่าตรวจสอบย้อนแหล่งที่มาได้ เนื้อสัตว์ผลิตจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีสุขลักษณะที่ดี ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 รวมทั้งต้นทางของเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP ซึ่งคัดเฉพาะสัตว์มีสุขภาพดี โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือติดต่อโดยตรงที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กลุ่มควบคุมโรงฆ่าสัตว์ โทร. 02-653-4444 ต่อ 3141
ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์กรมปศุสัตว์
เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ