จากที่กรมควบคุมโรค ได้แจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 1-12 และผู้อำนวยการสถาบันป้องกันโรคเขตเมือง ประสานกับหน่วยงานและเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมควบคุมโรคลัมปี สกิน โดยระบุว่า ถึงแม้โรคลัมปี สกิน ไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร เนื่องจากมีรายงานพบผู้ป่วย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีอาการผิวหนังเป็นแผลมีตุ่มนูน แตก สะเก็ด มีไข้ อ่อนเพลีย แล้วตรวจพบเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ (Herpes virus) และไวรัสลัมปี สกิน (Lumpy skin diseasevirus) ที่ผิวหนัง ซึ่งรายงานฉบับนั้น ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ และสร้างความตื่นตระหนกให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก
รายงานที่อ้างถึงนั้น เป็นรายงานที่พบผู้ป่วยในประเทศอียิปต์ ซึ่งมีการตีพิมพ์เพียงฉบับเดียว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และไม่มีรายงานเพิ่มเติมใดๆ ทั้งจากประเทศอียิปต์และประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดของโรคลัมปี สกิน ทั้งที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศบังคลาเทศ อินเดีย จีน เวียดนาม เมียนมา โดยในรายงานฉบับดังกล่าวนั้น มีการตรวจพบเชื้อไวรัส 2 ชนิด คือ เชื้อไวรัสกลุ่มเฮอร์ปีส์ และเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน จากคนป่วยในตัวอย่างที่ผิวหนัง โดยปกติเชื้อไวรัสกลุ่มเฮอร์ปีส์เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริม งูสวัด ในคนซึ่งจะแสดงอาการตุ่มหนองที่ผิวหนัง ริมฝีปาก และอวัยวะเพศ รวมถึงเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสด้วย นอกจากนี้ในรายงานไม่ได้ระบุจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจหรือจำนวนตัวอย่างที่ให้ผลบวกแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่สามารถระบุได้ว่า เชื้อไวรัสชนิดใดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนังหรือเกิดจากไวรัสทั้ง 2 ชนิด เพราะโดยปกติเชื้อไวรัสกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคลัมปี สกิน จะไม่ก่อโรคในผิวหนังปกติ สันนิษฐานจากกรณีนี้ น่าจะมีสาเหตุโน้มนำจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเฮอร์ปีส์มาก่อน และระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่ำมาก ร่วมกับมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน จึงตรวจพบเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน ในตัวอย่างผิวหนัง
โรคลัมปี สกิน เป็นโรคระบาดในโค กระบือ เท่านั้น โดยสามารถยืนยันองค์ความรู้ดังกล่าว ได้จากข้อมูลทางวิชาการขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (APHIS : USDA) ซึ่ง OIE มีผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบความรู้และปรับปรุงความทันสมัยทางวิชาการทุกปียังให้ข้อมูลว่าโรคลัมปี สกิน เป็นโรคระบาดในโค กระบือ เท่านั้น และไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน
ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ขอย้ำให้เกษตรกรและพี่น้องประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก เนื่องจากโรคลัมปี สกินไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน แต่เพื่อเป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดีของเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แนะนำให้เกษตรกรล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ รักษาความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้กับสัตว์ป่วย ทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงสัตว์และพื้นที่โดยรอบ และสวมถุงมือทุกครั้งเมื่อรักษาสัตว์ป่วยโรคลัมปี สกิน โดยเฉพาะที่มีรอยโรคที่ผิวหนัง และหากเกษตรกรมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือ call center 063-225-6888
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์
เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ