นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดพระราชพิธีรวมกันระหว่าง พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กับ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น โดยให้จัดขึ้นในวันที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคม
พืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลนั้น เป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่างๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของที่สามารถนำไปปลูกได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่าน ในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง โดยผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทองและคู่หาบเงินนั้น พิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว นอกจากนี้ยังพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ อีก เช่น อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน เป็นต้น สำหรับผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนานั้น แต่เดิมเป็นอธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง ภายหลังพระยาแรกนาเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตำแหน่ง
ในส่วนของพระโค ทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแลซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กรมปศุสัตว์ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์จะดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อเป็นพระโคตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม
ในปี 2566 กรมปศุสัตว์ ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 225 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 11 ปี พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 238 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 209 เซนติเมตร อายุ 11 ปี พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม มีความสูง 159 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 236 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 201 เซนติเมตร อายุ 13 ปี พระโคพูล มีความสูง 157 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 242 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 205 เซนติเมตร อายุ 13 ปี ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำหรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว เป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวง สีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลัง และกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า ซึ่งพระโคแรกนาขวัญ นายสมชาย ดำทะมิส บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพอ และนายอาคม วัฒนากูล บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพียง แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใช้เป็นพระโคแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2566 ส่วนพระโคสำรอง นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพิ่ม แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ และนายวิจารณ์ ภุกพิบูลย์ มอบพระโคพูลให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใช้เป็นพระโคสำรองประจำปีพุทธศักราช 2566
ทั้งนี้ โคขาวลำพูนเป็นโคพื้นเมืองที่เกิดจากฝีมือและผลงานของชาวบ้านในจังหวัดลำพูน มีการพัฒนาสายพันธุ์มานานกว่า 100 ปี เลี้ยงกันแพร่หลายในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ แล้วแพร่กระจายไปยังจังหวัดลำปาง พะเยา เชียงราย ความเป็นมาของโคขาวลำพูนนั้น ยังไม่มีผู้ใดศึกษาไว้อย่างจริงจัง และยังไม่ทราบแน่นอนถึงถิ่นกำเนิดที่แท้จริง อยู่ที่ใดและมีมาแล้วตั้งแต่เมื่อใด ที่เริ่มรู้จักกันนั้นมีความเป็นมาจากการที่ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ริเริ่มเลี้ยงฝูงโคขาว ตั้งแต่ พ.ศ.2521 แทนฝูงโคเนื้อลูกผสมพันธุ์ต่างประเทศ เพื่อหาทางศึกษาชี้นำให้มีการอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์ มีลักษณะที่โดดเด่นคือมีรูปร่างสูงใหญ่ สูงโปร่ง ลำตัวมีสีขาวตลอด พู่หางขาว หนังสีชมพูส้ม จมูกสีชมพูส้ม เนื้อเขาเนื้อกีบสีน้ำตาลส้ม จากลักษณะเด่นเป็นสง่าดังกล่าว จึงได้ถูกคัดเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
สำหรับการเสี่ยงทายและคำพยากรณ์นั้น เริ่มที่โรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาจุดธูปเทียนถวายสักการะเทวรูปสำคัญ ตั้งสัตยาธิษฐาน และหยิบผ้านุ่งแต่งกาย “ผ้านุ่งแต่งกาย” คือ ผ้านุ่งซึ่งเป็นผ้าลาย มีด้วยกัน 3 ผืน คือ สี่คืบ ห้าคืบ และหกคืบวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบ หากหยิบได้ผ้าผืนใด ให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งผืนเดิมอีกชั้นหนึ่งเพื่อเตรียมออกแรกนา โดยผ้านุ่งนี้ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ซึ่งของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้น มี ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหารจะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกิน น้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
************************************************
เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ