ทุกครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จแปรพระราชฐานทั่วทุกภาคของประเทศ ทรงมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของราษฎร ทรงให้แนวคิดในการพัฒนาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ตลอด โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมักประสบปัญหาด้านสุขภาพสัตว์ ขาดความรู้ และความเข้าใจในการเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกิดความสูญเสียและไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเองและตัวสัตว์ จึงทรงกำหนดการดำเนินงานโครงการสัตวแพทย์พระราชทาน ในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้น โดยมีพระราชดำริให้กรมปศุสัตว์ดำเนินโครงการสัตวแพทย์พระราชทาน มีกำหนดการดำเนินงานครั้งแรก ในระหว่างวันที่ 6 - 12 พฤศจิกายน 2550 ที่จังหวัดสกลนคร โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมดำเนินงานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ดูแลด้านสุขภาพสัตว์ เช่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย บริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานท้องถิ่น เข้าร่วมถวายงาน
โครงการสัตวแพทย์พระราชทานฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการตรวจรักษาพยาบาลสัตว์ให้แก่สัตว์เลี้ยงของเกษตรกรที่มีฐานะยากจนและอยู่ห่างไกลสถานบริการของภาครัฐ เพื่อควบคุมป้องกันโรคระบาดทั้งจากสัตว์สู่สัตว์และโรคสัตว์สู่คนมิให้เกิดการแพร่ระบาดไปในพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยพัฒนาสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น และเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านปศุสัตว์เพื่อพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพสัตว์แก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วทุกภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีความรู้และสามารถช่วยเหลือตนเองในการดูแลรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยเบื้องต้นได้ เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ช่วยพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของอาชีพ นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปที่มีสัตว์ป่วยก็จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง เป็นการลดการสูญเสียสัตว์เลี้ยงอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย และลดการแพร่กระจายของโรคระบาดสัตว์ รวมทั้งโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนอีกด้วย
การดำเนินโครงการฯ จะจัดขึ้นปีละ 4 ครั้ง และกำหนดการดำเนินงาน 4 จังหวัด ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งในแต่ละปีงบประมาณ ก็จะหมุนเวียนไปตามจังหวัดต่างๆ โดยมีกิจกรรมการให้บริการของโครงการฯ ดังนี้
- บริการตรวจรักษาพยาบาลสัตว์ป่วย
- บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
- บริการกำจัดพยาธิภายในและพยาธิภายนอกให้แก่สัตว์เลี้ยงของเกษตรกร
- บริการตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์ทางห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ณ จุดให้บริการ เช่น ตรวจโรคแท้งติดต่อ ตรวจโรคพยาธิในเลือด ตรวจหาไข่พยาธิในอุจจาระ เป็นต้น
- บริการตรวจและแก้ปัญหาการผสมไม่ติดของโคเนื้อ โคนม ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ การฝังฮอร์โมน
- บริการผสมเทียม
- บริการผ่าตัดทำหมันสุนัขแมว
- บริการผ่าตัดแก้ไขปัญหาไส้เลื่อน ลูกสัตว์ไม่มีรูทวารหนัก เป็นต้น
- บริการตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์
- จัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ ของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่ เช่น โรคสัตว์ การจัดการอาหารสัตว์ สิ้นค้าเกษตรกรด้านปศุสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
- บริการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพสัตว์ การจัดการด้านอาหารสัตว์ เสวนาปัญหาปศุสัตว์
- สาธิตและปฏิบัติการทำพืชอาหารสัตว์ เช่นการทำหญ้าหมัก ฟางหมัก การทำแร่ธาตุก้อนและการจัดทำแปลงหญ้าพระราชทาน
- กิจกรรมอื่น ๆ (ขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่)
ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินโครงการ จำนวน 67 ครั้ง พื้นที่ดำเนินโครงการ 54 จังหวัด มีเกษตรกรเจ้าของสัตว์ได้รับบริการ จำนวน 66,588 ราย และมีสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรได้รับบริการด้านสุขภาพสัตว์รวมทุกชนิดสัตว์ จำนวน 683,379 ตัว
*********************************************
ข้อมูล : กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ
เรียบเรียงโดย นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ