29 มีนาคม 2564 เวลา16.00 น.
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ศูนย์วิจัยผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมและทำความคุ้นเคยกับพระโคที่ใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์,นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ น.สพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมลงพื้นที่ ดังกล่าว
ด้วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานกรมปศุสัตว์ในการลงพื้นที่ศูนย์วิจัยผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมและทำความคุ้นเคยกับพระโคที่ใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2564 ก่อนที่จะมีพระราชพีธีในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้พระโคเพียง พระโคพอ ซึ่งเป็นพระโคแรกนาขวัญ ได้คุ้นชินกับสภาพดิน โดยจะไถ 9 รอบ พร้อมเดินรูปขบวน ประกอบด้วย พระยาแรกนา คือ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามด้วยเทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน
ทั้งนี้พระโคพอ พระโคเพียง เป็นฝาแฝดสายพันธุ์โคขาวลำพูน จากอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ที่มีน้ำหนัก ความสูง และรอบอกตามมาตรฐาน และผ่านการเป็นพระโคในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมาแล้ว ทั้งนี้ พระโคมีลักษณะดีตรงตามตำรา มีขวัญดี 5 จุด หางยาวเลยเข่า กีบเท้าขาว ขนมันเงางาม ทั้งคู่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ต่างกันที่พระโคเพียง มีเขาใหญ่และหน้าผากกว้างกว่าพระโคพอ เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมาทำให้ปีก่อนหน้าไม่มีการจัดพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นจึงต้องมีการฝึกซ้อมหนักกว่าปกติ โดยเริ่มฝึกออกกำลังกายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นฝึกเทียมแอก ฝึกไถ และฝึกเสี่ยงทายในเดือนสุดท้ายเพื่อให้การทำพิธีเป็นไปด้วยเกิดความเรียบร้อยและสวยงาม
ณ ศูนย์วิจัยผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี
{gallery}news_dld/2564/2564_03_29a/{/gallery}
ภาพ : ฉัตรชัย นวลปลอด เผยแพร่ฯ สลก. / ข่าว : ทีมเลขาอธิบดีกรมปศุสัตว์