นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่สำคัญมาก ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวมากถึง 8 ราย จากการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสัตว์ป่วยทั้งที่ไม่มีเจ้าของและมีเจ้าของกัดหรือข่วน โดยสัตว์ป่วยดังกล่าวไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน และเจ้าของสัตว์มีหน้าที่โดยตรงในการพาสัตว์เลี้ยงของตนไปรับการฉีดวัคซีนทุกปี ส่วนสุนัขหรือแมวที่ไม่มีเจ้าของจะต้องเร่งรัดดำเนินการควบคุมในทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตอีก ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ด้าน นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้ทุกจุดที่เกิดโรคให้ดำเนินการประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรค ให้มีการสำรวจจำนวนและขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว ฉีดวัคซีนสัตว์สัมผัสหรือสัตว์กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรค กักควบคุมสัตว์ที่สัมผัสหรือมีโอกาสสัมผัสโรคทุกตัวเพื่อเฝ้าระวังทางอาการและป้องกันการแพร่โรคไปสู่คน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าแก่เจ้าของสัตว์และประชาชน หากพบการกระทำความผิดตามกฎหมายให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าอีกต่อไป
“ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเร่งด่วนโดยใช้แนวทางภายใต้กรอบของกฎหมายในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ 10 จังหวัดแรกที่มีการเกิดโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุดในประเทศไทยในปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สงขลา ชลบุรี บุรีรัมย์ กรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี ศรีษะเกษ ยโสธร ฉะเชิงเทรา และมุกดาหาร ซึ่งจากข้อมูลการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในทุกจังหวัด พบว่ามีผลบวกในสัตว์มีเจ้าของมากกกว่าสัตว์ไม่มีเจ้าของ นั่นแสดงให้เห็นว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงหรือประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนสุนัขแมวไม่มีเจ้าของในที่สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีผู้นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยในที่สาธารณะจนเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว”
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์ทางบาดแผลที่ถูกสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคกัดโดยตรงหรือน้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า โดยสัมผัสบริเวณบาดแผลฉีกขาดที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือกบริเวณปาก ตา จมูก ทั้งนี้ สุนัขเมื่อถูกกัดหรือได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 3 – 18 สัปดาห์ และสามารถปล่อยเชื้อไวรัสออกมาในน้ำลายจนกว่าจะตาย ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของโรคในสุนัขขึ้นกับตำแหน่งที่สุนัขได้รับเชื้อโรคเข้าร่างกาย หากได้รับเชื้อตรงบริเวณขาอาจจะมีระยะฟักตัวนานถึง 1-2 ปี แต่ถ้าเป็นบริเวณหัวก็อาจจะ 3 สัปดาห์ ส่วนแมวจะมีระยะฟักตัวของโรคโดยเฉลี่ย 18 วัน เชื้อไวรัสจะขับออกมาทางน้ำลายในช่วงระยะเวลา 1 วัน ก่อนแสดงอาการ และเชื้อจะอยู่ในน้ำลายจนกว่าสัตว์จะตายเช่นกัน สุนัขและแมวส่วนใหญ่จะตายหลังจากที่แสดงอาการประมาณ 10 วัน
****************************
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ