กรมปศุสัตว์เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคสัตว์ปีกในช่วงฤดูหนาว แนะดูแลสุขภาพใกล้ชิดเตรียมรับมืออากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิลดต่ำลง กอปรกับมีลมแรงในทุกภาคของประเทศไทยหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้สัตว์ปีกมีสุขภาพอ่อนแอและอาจเจ็บป่วยได้
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า จากพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งจะส่งผลให้สัตว์ปีกอ่อนแอ เสี่ยงต่อการ เกิดโรคได้ ประกอบกับรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health หรือ OIE) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ในฟาร์มสัตว์ปีกของประเทศกัมพูชา กรมปศุสัตว์จึงขอให้พี่น้องเกษตรกร เฝ้าระวังดูแลสุขภาพสัตว์ปีกในระยะนี้อย่างใกล้ชิด ต้องจัดเตรียมอาหารและน้ำสะอาดให้เพียงพอ ควรเลี้ยงสัตว์ปีกในโรงเรือนทั้งหมดเพื่อป้องกันสัตว์พาหะนำโรคต่างๆ โดยเน้นการจัดการโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ดูแลโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดีเพื่อให้สามารถป้องกันลมหนาวได้ พิจารณาเพิ่มความอบอุ่นแก่สัตว์ปีกในช่วงอากาศหนาวเย็น ควรเสริมวิตามินและแร่ธาตุเพื่อให้ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันทำให้สัตว์ปีกมีสุขภาพแข็งแรง
“กรมปศุสัตว์มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบริเวณที่ติดต่อกับประเทศที่มีรายงานการพบโรคระบาด พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ดำเนินการอย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอ กำชับให้ตรวจสอบการลักลอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออกตามแนวชายแดน ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณด่านกักสัตว์ที่จุดผ่านแดนและให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทุกจังหวัดลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกร และพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยง” น.สพ.อภัย กล่าว
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุดว่า กรมปศุสัตว์มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีก หากพบว่ามีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะเร่งเข้าดำเนินการตรวจสอบ และเฝ้าระวังควบคุมโรคตามที่กำหนดไว้ทันที จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกในการปฏิบัติตามระเบียบ การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีก โดยต้องมีผลการตรวจรับรองโรคระบาดและใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายทุกครั้ง หากผู้ใดพบเห็นการลักลอบหรือพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งเบาะแสแก่อาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด อย่างเร่งด่วน หรือแจ้งผ่านสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 0-9630-11946 ที่สำคัญห้ามนำสัตว์ปีกดังกล่าวไปประกอบอาหารหรือทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด ต้องทำลายซากอย่างถูกต้องด้วยการฝังหรือเผา ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที
**************************************
ข้อมูล: กลุ่มควบคุมป้องกันโรคสัตว์ปีก สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์