กรมปศุสัตว์จัดหน่วยรณรงค์ฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย และดูแลสุขภาพโคนม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

                         นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้กำหนดให้มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย และการทำลายเชื้อในพื้นที่เสี่ยง รอบที่ 1 ประจำปี 2561 ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งจะเน้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม   โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ ร่วมกับการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคระบาดที่สำคัญในสัตว์กีบคู่ เนื่องจากติดต่อได้อย่างรวดเร็ว โดยโรคนี้ไม่ทำให้สัตว์ถึงตายแต่สุขภาพทรุดโทรม ผลผลิตลดลง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ร่วมกับการจัดการฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพซึ่งจะช่วยกันเชื้อโรคเข้ามาภายในฟาร์ม

                        เนื่องจากพื้นที่อำเภอปากช่องมีการเลี้ยงโคนมอย่างหนาแน่น ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลให้สุขภาพสัตว์อ่อนแอเกิดการติดเชื้อและสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร กรมปศุสัตว์จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วย นายสัตวแพทย์ สัตวแพทย์ นักวิชาการสัตวบาลจากส่วนกลางและภูมิภาค   ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์เขต 3 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ด่านกักกันสัตว์นครราชสีมา สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพนครราชสีมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา   ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตสัตว์โคราช (HHU) รวมประมาณกว่า 80 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสหกรณ์โคนมและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในพื้นที่ เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม ดูแลสุขภาพโคนมด้วยการทดสอบโรค ตรวจหาพยาธิในเลือดและทางเดินอาหาร รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์ม หรือ GFM ในระหว่างวันที่ 15 - 26 มกราคม 2561 โดยทางกรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนาพงศ์โสภณ  รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนเจ้าหน้าที่รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม ในวันพุธที่ 17 มกราคม 2561 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลจันทึก ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้เป็นการประสานความร่วมมือกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และสหกรณ์โคนมในพื้นที่เพื่อให้เกิดประสิทธิผล และความยั่งยืนในการป้องกันและควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย

                        ทั้งนี้ หากเกษตรกรพบเห็นสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งได้ที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใกล้บ้านท่าน เพื่อจะได้เข้าไปให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที หรือแจ้งได้ที่โทรศัพท์ 0-2653-4553 ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด

                                                     -------------------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม