วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 นายลักษณ์  วจนานวัช  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการโคบาลบูรพา โดยมี นายสัตวแพทย์อภัย  สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้การต้อนรับ 

นายลักษณ์  วจนานวัช  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของโครงการ “โคบาลบูรพา” ว่า “โครงการโคบาลบูรพา” เป็นโครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ เป็นอีกหนึ่งในโครงการ  ที่ตอบโจทย์นโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของรัฐบาล โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงโค-แพะ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่เน้นประสานความร่วมมือกับเกษตรกรและรวมกันเป็นกลุ่มเกษตรกรสร้างความเข้มแข็งร่วมสร้างอาชีพใหม่ที่มั่นคง   มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 3 อำเภอ คือ อำเภอโคกสูง อำเภอวัฒนานคร  และอำเภออรัญ-ประเทศ การเตรียมความพร้อมได้ทำการฝึกอบรมเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน การเตรียมความพร้อม การบริหารจัดการฟาร์มที่ดีเตรียมพื้นที่ เตรียมคอก เตรียมเสบียงสัตว์และแหล่งน้ำเพื่อใช้ในฟาร์มของเกษตรกรสมาชิก และเจ้าหน้าที่ก็มีความพร้อมเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินการ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “โคบาลบูรพา” มีการดำเนินการใน 2 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก เป้าหมายระยะแรกเกษตรกร 6,000 ราย สนับสนุนแม่โคเนื้อ รายละ 5 ตัว เป้าหมายโคเนื้อ รวม 30,000 ตัว ซึ่งขณะนี้ (ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561) ได้รับรายงานจากกรมปศุสัตว์ว่า ได้ส่งมอบโคแก่เกษตรกรไปแล้ว 1,242 ราย รายละ 5 ตัว รวมเป็นจำนวน 6,210 ตัว มีเกษตรกรทำแปลงพืชอาหารสัตว์ 2,612 ราย จำนวน 13,060 ไร่ ในการนี้ กรมปศุสัตว์ได้จ่ายเงินอุดหนุนการทำแปลงพืชอาหารสัตว์ให้กับเกษตรกรไปแล้ว 1,182 ราย เป็นเงินจำนวน 11,820,000 บาท สำหรับเกษตรกรสร้างโรงเรือน จำนวน 2,620 หลัง ส่วนการโอนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนั้น เป็นค่าสร้างโรงเรือนโคเนื้อ 2,100 ราย  จำนวน 105,000,000 บาท เป็นค่าสร้างโรงเรือนแพะ  50 ราย จำนวน 5,000,000 บาท  ซึ่งเป็นการสนับสนุนกิจกรรมที่ 2 คือ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ โดยมีเป้าหมายระยะแรกเกษตรกร 100 ราย สนับสนุนแพะเพศเมีย รายละ 30 ตัว เพศผู้รายละ 2 ตัว รวมทั้งสิ้น 32 ตัวต่อราย  และให้เงินกู้ยืมจากเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งเป็นการให้กู้ยืมโดยปลอดดอกเบี้ยตลอดโครงการฯ เป็นค่าขุดเจาะบ่อบาดาล บ่อตอก หรือบ่อน้ำตื้น 2,150 ราย จำนวน 17,200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 127,200,000 บาท นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้ผสมเทียมโคไปแล้ว จำนวน 271 ตัว และได้รับรายงานว่ามีลูกเกิดจำนวน 33 ตัว ซึ่งเป็นลูกที่ติดท้องมา เป็นเพศผู้ 19 ตัว เพศเมีย 14 ตัว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในที่สุด

ด้าน นายสัตวแพทย์อภัย  สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกระบวนการดำเนินงานตามโครงการโคบาลบูรพาว่า กรมปศุสัตว์จะมีการตรวจสอบโรค ทั้งจากต้นทาง มีการเจาะเลือดส่งตรวจและกักไม่น้อยกว่า 21 วัน เพื่อตรวจสอบโรคตามที่กำหนด และที่ปลายทาง ในพื้นที่มีคอกกักใน จังหวัดสระแก้ว หรือใกล้เคียงในพื้นที่เขต 2 ที่ได้รับการรับรอง อย่างน้อย 3 วัน เพื่อกักดูอาการก่อนส่งมอบให้เกษตรกรต่อไป มีการเตรียมการสำรองอาหารสัตว์ ให้เกษตรกรทุกราย ปลูกสร้าง 

แปลงหญ้าตามเงื่อนไข รายละ 5 ไร่ แม้จะกระทบช่วงแล้งบ้าง ประเมินแล้วน่าจะไม่มากนัก เตรียมกระตุ้น แนะนำให้สำรองยอดมัน ใบมัน กิ่งอ่อน หมักในถัง สำรองให้กินเสริมตอนเย็น เนื่องจากมีการเก็บหัวมันในช่วงแล้งนี้ และยังมียอดอ้อยในพื้นที่ที่สามารถนำมาใช้เลี้ยงโคในแล้งนี้ได้ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์โดย สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ได้เตรียมสำรองเสบียงสัตว์ในพื้นที่ใกล้เคียง รวม 20,000 ฟ่อน สำหรับกรณีฉุกเฉินอีกด้วย

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนขั้นตอนการตรวจสอบและกักกันโรคสัตว์จากต้นทางนั้น กรมปศุสัตว์จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคเฮโมเรยิกเซฟติซีเมีย วัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ครั้งที่ 1 ติดเบอร์หู NID เจาะเลือดเก็บ Serum วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนักสัตว์  ทำบัตรประจำตัวสัตว์  เจาะสายสะพายโคทุกตัว และทดสอบโรควัณโรค  มีการกักสัตว์เป็นเวลา 30 วัน เพื่อสังเกตอาการ และตรวจสุขภาพสัตว์ทั่วไปทุกวัน  ในวันที่ 14 ของการกัก จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ครั้งที่ 2 พร้อมกับถ่ายพยาธิ ยื่นเอกสารขออนุมัตินำโคเข้าพื้นที่เขต 2 และในวันที่ 30 ของการกัก จะมีการตรวจสุขภาพ พร้อมกับล้างกีบโคทุกตัว ตรวจดูวิการโรค หากพบสัตว์ป่วยจะไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้าย

ส่วนขั้นตอนการตรวจรับโคที่ปลายทางนั้น กรมปศุสัตว์ โดยปศุสัตว์เขต จะอนุมัติให้โคเนื้อในโครงการฯ ที่ครบกำหนดกักแล้วจากต้นทาง เคลื่อนย้ายเข้าเขต 2 และจะมีกระบวนการตรวจรับ โดยกรรมการตรวจรับ 3 ชุด ซึ่งกรรมการชุดที่ 1 จะตรวจสอบใบอนุญาตเคลื่อนย้าย (ร.4)  ผลการตรวจสอบโรค การฉีดวัคซีน บัตรประจำตัวสัตว์  น้ำหนัก ส่วนสูง เบอร์หู ให้ตรงกับบัตรประจำตัวสัตว์  กรรมการชุดที่ 2 จะตรวจสอบสายพันธุ์โคเนื้อ  ตรวจสุขภาพรวมทั้งบาดแผลต่างๆ ตรวจตา หู หาง  ท่าทางการเดิน  และความสมบูรณ์ของสัตว์  กรรมการชุดที่ 3 จะวัดน้ำหนัก  วัดส่วนสูง ถ่ายรูปเบอร์หู  ตีตราร้อนที่บริเวณสะโพกด้านซ้ายของโค เป็นตัวเลข 2  และคัดแยกโคที่ผ่านเข้าคอกกัก  ส่วนโคที่ไม่ผ่านการตรวจก็จะส่งกลับต้นทางต่อไป ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมั่นได้ว่าโครงการโคบาลบูรพานั้น เป็นโครงการที่จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างแน่นอน อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

***************************************************************

ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์  

ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ  ดวงอุดม  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ