การคัดเลือกเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2561 ที่ได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์) คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่ประดู่หางดำทุ่งช้าง เลขที่ 46 หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งช้าง อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ตั้งกลุ่มเมื่อ ปี 2552 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 มีสมาชิกแรกตั้ง 12 คน สมาชิกปัจจุบัน  60 คน นางพรทิพย์ ร่อนทอง เป็นประธาน กลุ่มมีอายุ 9 ปี

                   นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่ประดู่หางดำทุ่งช้าง ว่า สภาพพื้นที่อำเภอทุ่งช้างเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาล้อมรอบทำให้เนื้อที่ทางการเกษตรมีจำนวนจำกัด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม ได้แก่ การเลี้ยงโคเนื้อ สุกร ไก่พื้นเมือง เป็ด โดยเฉพาะไก่พื้นเมืองมักจะเลี้ยงกันทุกครัวเรือนเนื่องจากประชาชนในพื้นที่นิยมบริโภคเนื้อไก่ สามารถนำไปบริโภคเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เกษตรกรจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ขึ้นในปี 2552 เพื่อผลิตไก่พื้นเมืองจำหน่ายในชุมชนเป็นรายได้เสริม มีสมาชิกเริ่มแรก 12 คน แต่เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่มีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบตามมีตามเกิด ไม่มีระบบการจัดการที่ดี ทำให้ประสบปัญหาไก่ป่วยตาย มีอัตราการรอดต่ำ เกิดผลกระทบทำให้ผลประกอบการของกลุ่มขาดทุนและจำนวนไก่มีไม่เพียงพอที่จะจำหน่ายในชุมชน ในปี 2556 สมาชิกกลุ่มประสบปัญหาไก่แม่พันธุ์ไข่เรี่ยราด บางตัวไม่ยอมฟักไข่ ทำให้มีเปอร์เซ็นต์ฟักลูกไก่ออกมาจำนวนน้อยมาก พอปี 2557 คณะกรรมการกลุ่มได้รับคำแนะนำจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุ่งช้าง โดยกำหนดระเบียบข้อบังคับของกลุ่มและให้คำแนะนำทำให้กลุ่มมีการบริหารจัดการเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และได้นำไก่ประดู่หางดำเข้ามาเลี้ยงในกลุ่ม ได้ขึ้นทะเบียนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงไก่ประดู่หางดำทุ่งช้าง และได้รับสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างโรงผสมอาหารและจัดซื้อเครื่องผสมอาหาร เครื่องสับหญ้า ทำให้กลุ่มสามารถให้บริการสมาชิกด้านอาหารสัตว์ได้อย่างเพียงพอ ต่อมาได้รับสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ในการก่อสร้างโรงแปรรูปและโรงพักไก่  พร้อมนี้กลุ่มยังได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการพัฒนาและแปรรูปไก่ประดู่หางดำ

                ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่ประดู่หางดำทุ่งช้าง สามารถผลิตลูกไก่เฉลี่ยเดือนละ 10,000 – 14,000 ตัว ไก่ขุนเฉลี่ยเดือนละ 7,500 – 10,000 ตัว มียอดจำหน่ายไก่ขุนเฉลี่ยเดือนละ 6,000 – 9,000 ตัว โดยเน้นไก่ขุนที่มีคุณภาพ น้ำหนักตัวประมาณ 1.2 – 1.5 กก. (ต้นน้ำ) มีการชำแหละและบรรจุภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน (กลางน้ำ) เพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้าของกลุ่ม ทั้งไก่สด ไก่พร้อมปรุงและประกอบอาหารปรุงสุกด้วยเมนูต่าง ๆ อาทิ ลาบไก่คั่ว ไก่นึ่ง ไก่ต้มน้ำปลา ไก่ทอดน้ำปลา รวมถึงการผลิตไข่ไก่อินทรีย์ เป็นสินค้า OTOP ในปี 2560  โดยสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน คือ “ไก่ประดู่หางดำต้มน้ำปลา” และมีช่องทางการตลาด (ปลายน้ำ) สู่ผู้บริโภคภายใต้ชื่อ ไก่ประดู่หางดำทุ่งช้าง ทั้งตลาดสด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรมและรีสอร์ท รวมถึงตลาดประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว)

          อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่ประดู่หางดำทุ่งช้าง มีความสามารถในการบริหารจัดการสถาบันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีระเบียบข้อบังคับที่เอื้อต่อความสำเร็จของกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกได้ยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติ มีคณะกรรมการบริหารกลุ่ม 3 ฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายมีการแบ่งงานตามความชำนาญของแต่ละบุคคล มีการจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปี โดยกำหนดให้มีการประชุมใหญ่ประจำปีในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้เสนอแนะข้อมูลและสรุปผลการดำเนินงานของกลุ่ม มีการกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานของกลุ่มทุกด้าน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินงานของสมาชิกให้บรรลุวัตถุประสงค์ แผนและผลการดำเนินงาน ช่วงต้นน้ำเน้นการพัฒนาระบบการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน ทั้งด้านการจัดการโรงเรือน สุขภาพ การป้องกันควบคุมโรคและการลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะในด้านอาหารสัตว์ รวมถึงการสร้างการรับรู้เพื่อขยายเครือข่ายผู้เลี้ยง ผ่านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น โปสเตอร์ ป้ายประชาสัมพันธ์ แผ่นพับและสื่อ INTERNET เป็นต้น แผนระยะกลาง จะเป็นการพัฒนาช่วงกลางน้ำ แปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้า มีการสร้างโรงฆ่าสัตว์ปีกระดับชุมชน โรงแปรรูป เพื่อผลิตเนื้อไก่ให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยทางด้านอาหารสู่ผู้บริโภค ส่วนแผนระยะยาว ช่วงปลายน้ำ เป็นการพัฒนาทางด้านการตลาด โดยการจัดหาสถานที่จำหน่ายและสร้างเครือข่ายจำหน่ายไก่สด ทำให้เกิดการสร้างระบบอาชีพให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สามารถผลิตเนื้อไก่ป้อนตลาดได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอต่อความต้องการ

            การให้บริการแก่สมาชิกกลุ่ม ดูแลสุขภาพของไก่ โดยกลุ่มมีอาสาปศุสัตว์และมีกองทุนยาสัตว์ประจำกลุ่ม เพื่อให้บริการแก่สมาชิก มีเครื่องบดข้าวโพดบริการสมาชิก รวมทั้งข้าวโพดบดและอาหารสัตว์ที่ผสมแล้วจำหน่ายราคาถูกและนำผลกำไรที่ได้รับเข้าสู่กลุ่ม เครื่องสับหญ้า เครื่องผสมอาหารสำหรับสมาชิกที่ต้องการผสมอาหารใช้เลี้ยงไก่ จัดซื้อตู้ฟักไข่ มอบให้แก่สมาชิกที่มีปัญหาจำนวนไข่มีมากเกินไป โดยสมาชิกออกเงินสมทบครึ่งหนึ่ง คอกพักสัตว์ เป็นคอกขุนไก่ของกลุ่มเพื่อให้บริการรับซื้อไก่ของสมาชิกที่ต้องการจำหน่ายเร่งด่วน แล้วนำมาขุนเพื่อเพิ่มน้ำหนักสร้างความสมบูรณ์ก่อนส่งตลาด   มีโรงเชือดไก่สำหรับบริการสมาชิกที่ต้องการเชือดไก่จำหน่ายและแปรรูป จัดฝึกอบรมและศึกษาดูงานของสมาชิกเป็นประจำต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ให้ได้ตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ สร้างโลโก้และแบรนด์กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่ประดู่หางดำทุ่งช้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค

                        กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ประดู่ทุ่งช้างได้จัดทำกฎระเบียบกลุ่มโดยสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมและมีระเบียบการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน สมาชิกร่วมประชุม 2 เดือน/ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ โดยมีการจดบันทึกการประชุมทุกครั้งพร้อมกับเก็บข้อมูลการผลิตของสมาชิก  เพื่อใช้ ในการวางแผนการตลาด นอกจากนี้ กลุ่มยังจัดให้มีกิจกรรม เช่น การเข้ารับการฝึกอบรมและศึกษาดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ การออกร้านประชาสัมพันธ์ การเข้าร่วมประกวดการทำอาหารด้วยไก่ประดู่ทุ่งช้าง การเข้าร่วมแข่งขันแปรรูปอาหาร ปัจจุบันกลุ่มเปิดร้านจำหน่าย สาขาทุ่งช้าง ในตลาดประชารัฐทุกวันพุธ สมาชิกส่วนใหญ่พอใจกับการดำเนินงานของกลุ่มและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ปัจจัยที่มีผลทำให้ประสบความสำเร็จ อาทิ การดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะการมีคอกกกลูกไก่และการดูแลการกกลูกไก่เป็นพิเศษ การทำวัคซีนและให้ยาตามโปรแกรมที่กำหนด ระบบป้องกันควบคุมโรคทางชีวภาพ การติดตามการดำเนินงานของกลุ่มและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีของเจ้าหน้าที่ มีโครงการ เฝ้าระวังเหตุการณ์ในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อลดปัญหาโรคติดต่อ

                “ ผลการดำเนินงาน ด้านงบประมาณและเงินทุน ได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการจัดตั้งกองทุนยาสัตว์ เข้าฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ได้รับปัจจัยการผลิต วัตถุดิบสำหรับผสมอาหารสัตว์ พันธุ์ไก่พ่อแม่พันธุ์ และโรงเชือดไก่ขนาดเล็ก ด้านระบบบัญชี กลุ่มได้จัดทำระบบบัญชีโดยประยุกต์จากระบบบัญชีมาตรฐานทั่วไปเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานและ   ง่ายต่อการเข้าใจของผู้จัดทำบัญชี ด้านการลดรายจ่าย การดำเนินงานบริหารจัดการด้วยความร่วมไม้ร่วมมือและร่วมแรงร่วมใจ คำนึงถึงผลประโยชน์ของสมาชิกเป็นหลัก เน้นการลดรายจ่าย เช่น การเลี้ยงไก่พ่อแม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกไก่เลี้ยงเองเพื่อลดต้นทุนค่าพันธุ์สัตว์ จัดหาวัสดุในพื้นที่เพื่อผลิตอาหารใช้เอง เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ และจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาสัตว์ วัคซีน ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อลดต้นทุน ค่าดูแลรักษาสัตว์ ด้านการเพิ่มรายได้ โดยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเลี้ยงไก่ ปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พัฒนาระบบการผลิตให้พอเพียง ต่อการจำหน่ายตามแผนการตลาดที่วางไว้และหาตลาดใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์และผลักดันให้เป็นสินค้า OTOP และพัฒนาสถานที่จำหน่าย และบรรจุภัณฑ์ภายใต้ชื่อ ไก่ประดู่หางดำทุ่งช้าง ให้ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับสถานที่จำหน่าย และสามารถส่งจำหน่ายไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้ กิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ กลุ่มได้เป็นฟาร์มต้นแบบให้แก่เกษตรกรรายย่อย เพื่อกำหนดเกณฑ์ฟาร์มมาตรฐานการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของกรมปศุสัตว์ สนับสนุนไก่พ่อแม่พันธุ์แก่เกษตรกร เพื่อนำไปขยายพันธุ์ มอบลูกไก่ประดู่หางดำทุ่งช้าง ให้แก่กิจกรรมของโรงเรียนในพื้นที่อำเภอทุ่งช้างเพื่อนำไปศึกษาการเลี้ยงและประกอบเป็นอาหารกลางวัน มอบไก่ประดู่หางดำทุ่งช้างให้แก่กลุ่ม / ชมรมคณะผู้จัดงานต่างๆ เป็นประจำ ทั้งยังเป็นฟาร์มสาธิตและเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของหน่วยงานและประชาชนที่สนใจและประชาชน สปป. ลาว กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มฯ ส่งเสริมให้สมาชิกใช้ปุ๋ยที่ผลิตจากมูลไก่ในนาข้าว ในสวนผลไม้เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมี ใช้พืชสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ นำวัสดุในพื้นที่ อาทิ ข้าวโพดบดผสมลำละเอียด ปลูกหญ้ารูซี เนเปียร์ปากช่อง1 ให้ไก่กิน ทำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำให้ไก่กิน เพื่อป้องกันโรค ใช้วัสดุในท้องถิ่นในการกกลูกไก่เพื่อประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้า สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มโครงการพิเศษ กรมปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4477 ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

                          

                                                               *****************************************

ข้อมูล : กลุ่มโครงการพิเศษ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม