โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงป่วยแล้วตายทุกรายทั้งในคนและสัตว์ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นภัยร้ายใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัข แมว คนที่อยู่ในบ้านและเพื่อนบ้าน โดยผู้เลี้ยงสุนัขแมวส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเลี้ยงสุนัขแมวอยู่ในบ้านไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพราะเลี้ยงดูอย่างดี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด  เพราะจากข้อมูลผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าพบว่าถูกสุนัขหรือแมวที่ไม่ได้รับวัคซีนกัดรวมถึงผู้ถูกกัดก็ไม่ได้ไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนในคน ผู้ที่ถูกสัตว์สงสัยโรคพิษสุนัขบ้า เช่น สุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค 

                นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคสัตว์ติดคน โดยสุนัข มีนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม เช่นชอบเล่นกับเจ้าของ จะแยกออกไปซุกตัวเงียบ ส่วนตัวที่กลัวคนจะมาคลอเคลียคน มีไข้ ม่านตาขยาย ประมาณ 2 -3 วัน ต่อมาระยะตื่นเต้น สุนัขจะมีอาการทางประสาท เช่นกัดแทะสิ่งของ โดยไม่เจ็บปวด ตัวแข็ง ไม่อยู่นิ่ง อาการ ๑-๗ วัน ระยะอัมพาต สุนัขจะลิ้นห้อย น้ำลายไหล คล้ายกับมีของติดคอ ลุกไม่ได้ และตาย แมว หลบในที่มืด และอาการเช่นเดียวกับสุนัข สัตว์ชนิดอื่น เช่น สุกร อาการทางประสาทเช่นเคี้ยวปาก น้ำลายไหล ไวต่อสิ่งแวดล้อม มักตายใน 3 – 4 วัน โค กระบือ ตื่นเต้น วิ่งไล่ชนสิ่งต่างๆ น้ำลายยืดกัดฟันในสุนัขและแมวอาจแพร่เชื้อได้นาน ๑-๗ วัน ก่อนเริ่มแสดงอาการป่วย และตลอดเวลาที่แสดงอาการ โดยจะขับออกมาจากน้ำลายจนถึงตายรวมแล้วประมาณ ๑๐ วัน

               นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขอย่างถูกต้องและรับผิดชอบ รวมถึง ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนกระตุ้นตามที่สัตวแพทย์กำหนด และฉีดซ้ำทุกปี รวมทั้งการฉีดวัคซีนควรดำเนินการโดยสัตวแพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนโดยบุคคลแอบอ้าง นอกจากนี้หากสุนัขตายหรือมีอาการสงสัยป่วยด้วย โรคพิษสุนัขบ้าให้ทำการแจ้งหน่วยงานปศุสัตว์เพื่อส่งตรวจเพื่อยืนยันว่าไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า 

*******************************************************

 ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์                                                           ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ