วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2561 เวลา 10.00 น. นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานไก่งวงแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พร้อมเปิด “โรงปฏิบัติการสร้างมูลค่าเพิ่มสัตว์ปีก” และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดแข่งขันต่างๆในงาน ซึ่งกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วยเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ไก่งวง ได้ร่วมกันจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์มหาสารคาม ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตและการตลาดไก่งวงในระดับภูมิภาค รวมทั้งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังไปเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์จากไก่งวง ให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ยึดแนวทาง“ตลาดนำการผลิต”
นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ไก่งวงในประเทศไทยมีความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มมีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงอย่างจริงจังได้ไม่นาน โดยจำเป็นต้องผ่านการศึกษาทดสอบ ทดลองจากหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ก่อนแล้ว จึงจะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงได้ต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากไก่งวงเป็นสัตว์ปีกที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงยังไม่คุ้ยเคยกับการเลี้ยงและวัฒนธรรมการบริโภคโดยทั่วไปมากนัก แต่พอได้มีการพัฒนาและส่งเสริม จึงพบว่า ไก่งวงเป็นสัตว์ปีกที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว และสามารถปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติได้เช่นเดียวกับไก่บ้าน หรือไก่พื้นเมืองไทย ซึ่งขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวง ภายใต้งบยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด จึงนับว่าเป็นสัตว์ปีกที่มีโอกาสและ มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรรายย่อย แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าไก่งวงจะให้ผลผลิตเนื้อคุณภาพดี มีโปรตีนสูง และมีคลอเลสเตอรอลต่ำ สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย แต่ความต้องการของตลาด ยังเป็นในลักษณะตลาดเฉพาะ (Niche market) สำหรับผู้ที่นิยมชมชอบ จึงจำเป็นต้องพัฒนาด้านระบบการตลาดของไก่งวงให้มากยิ่งขึ้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์จากไก่งวง จึงได้ปรับปรุง “โรงปฏิบัติการสร้างมูลค่าเพิ่มสัตว์ปีก” ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติการที่มีทั้งโรงฆ่าสัตว์ปีกและห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดไก่งวงครบวงจรอย่างแท้จริง สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ยึดแนวทาง“ตลาดนำการผลิต” ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย นายสุพัฒน์ กล่าว
ด้าน นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ไก่งวงในประเทศไทยนั้นเชื่อกันว่าถูกนำเข้ามาเลี้ยงในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยทหารอเมริกันที่มาประจำฐานทัพในจังหวัดนครราชสีมาและอุดรธานี ซึ่งหน่วยงานกรมปศุสัตว์ ได้เก็บรวบรวมพันธุ์และทดสอบการเลี้ยงไก่งวง การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไก่งวง และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร เป็นผลทำให้มีผู้เลี้ยงมากกว่า 4,600 ราย จำหน่ายไก่งวงขุนมากกว่า 40,000 ตัว/ปี คิดเป็นน้ำหนักมากกว่า 200 ตัน/ปี โดยมีมูลค่าการจำหน่ายไก่งวงมีชีวิต/ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อไก่งวง มากกว่า 50 ล้านบาท/ปี จังหวัดมหาสารคามเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการส่งเสริม และพัฒนาการเลี้ยงไก่งวงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยจังหวัดได้ให้ความสำคัญ ส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวงภายใต้งบยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการจัดงาน ไก่งวงเมืองตักสิลามาแล้วจำนวน 7 ครั้ง โดยมีการจัดงานขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ ที่ 4 ตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยใช้ชื่อ “งานไก่งวงเมืองตักสิลา” และได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน รวม 7 ครั้ง สำหรับการจัดงานไก่งวงในปีนี้ กรมปศุสัตว์ได้ยกระดับการจัดงานเป็น “งานไก่งวงแห่งชาติ” ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกที่จังหวัดมหาสารคามแห่งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงไก่งวงอย่างเป็นระบบ กรมปศุสัตว์จึงอนุมัติให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์มหาสารคาม กองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ปรับปรุงโรงอาหาร(เดิม) ให้เป็น “โรงปฏิบัติการสร้างมูลค่าเพิ่มสัตว์ปีก” ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติการที่มีทั้งโรงฆ่าสัตว์ปีกและห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ที่มีมาตรฐานระดับ GMP ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนาเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไก่งวงให้มีมูลค่า และปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้ง ยังจะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดไก่งวงครบวงจรอย่างแท้จริง สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ยึดแนวทาง“ตลาดนำการผลิต” ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยอีกด้วย
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “งานไก่งวงแห่งชาติ ครั้งที่ 1” ที่กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม 2561 นี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตและการตลาดไก่งวงในระดับภูมิภาค รวมทั้งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภค เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์จากไก่งวง ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ การสาธิตและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป และการตลาดไก่งวงจากหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการประกวดพันธุ์ไก่งวง การแข่งขันประกอบอาหารจากเนื้อไก่งวงจากกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร การแข่งขันวาดภาพไก่งวงของเด็กนักเรียน การสัมมนาการพัฒนาการผลิต และการตลาดไก่งวงไทยจะก้าวไกลสู่อาเซียนได้อย่างไร ตลอดจนการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดไก่งวงอีกด้วย
*********************************
ข้อมูล : กองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ