การคัดเลือกเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2562 ที่ได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ดีเด่นแห่งชาติ (หมูหลุม สุกรขุน เป็ดไข่ โคเนื้อ) คือ นายนายชลอ เหลือบุญเลิศ อายุ 50 ปี บ้านเลขที่ เลขที่ 177 ม.9 ต.บ้านนา อ.เมือง จ.ชุมพร
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า นายชลอ เหลือบุญเลิศ เดิมทำงานในบริษัทเอกชนด้านงานขาย ปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งถึงแม้ว่าจะยังไม่มีผลกระทบแต่มีคนรู้จักมากมายได้รับผลกระทบทำให้เริ่มคิดถึงความมั่นคงที่จะสร้างงานเป็นของตนเอง ต่อมาได้ตัดสินใจซื้อที่ดินประมาณ 65 ไร่ เพื่อทำสวนแบบผสมผสาน ปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน กาแฟ มังคุด ลองกอง เป็นต้น โดยใช้เวลาว่างในวันหยุดพร้อมๆ กับทำงานบริษัทร่วมด้วย ต่อมาได้ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเต็มรูปแบบ แต่เนื่องจากขาดประสบการณ์ทำให้ได้ผลผลิตไม่มาก มีแต่กาแฟที่ให้ผลผลิตเต็มที่แต่โชคร้ายช่วงนั้นกาแฟราคาไม่ดี จึงแก้ปัญหาโดยการชักชวนชาวสวนกาแฟมารวมกลุ่มเกษตรกรทำสวนชุมชนในง่วมบ้านนา โดยมี นายชลอ เป็นประธาน เมื่อประสบปัญหาจึงปรึกษากับภรรยาถึงแนวทาง พบว่า การทำสวนจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปีละหลายหมื่นบาท จึงตกลงเลี้ยงหมูเพื่อจำหน่ายและได้มูลเป็นการประหยัดค่าปุ๋ย จึงเริ่มเลี้ยงหมู 10 ตัว และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงหมู และเพิ่มเป็น 20 ตัว พร้อมกับเริ่มต้นการเลี้ยงแม่พันธุ์ ต่อมาราคาสุกรตกต่ำหากจำหน่ายไปจะขาดทุนจึงแก้ปัญหาโดยการชำแหละเนื้อหมูขายเอง นอกจากไม่ขาดทุนแล้วยังมีเงินเหลือ จึงเกิดความมั่นใจว่าในขณะที่ราคาตกต่ำยังสามารถสร้างกำไรได้ จึงตัดสินใจเพิ่มแม่พันธุ์ และเพิ่มจำนวนหมูขุน ในขณะที่เลี้ยงก็พยายามศึกษาหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ ความมั่นใจจึงมีความคิดที่จะประกอบเป็นอาชีพหลัก ต่อมาได้เพิ่มจำนวนหมูขุน แม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์ เนื่องจากจำนวนหมูที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นรบกวนเพื่อนบ้าน แม้จะพยายามทำความสะอาดก็ยังมีกลิ่น จึงไปศึกษาดูงานพร้อมขอคำแนะนำ จากอาจารย์ สานนท์ ภู่ขวัญเมือง (อาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร) กลับมาปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงหมูของตนเองเป็นหมูหลุม ซึ่งช่วงแรกยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง จึงปรึกษากับเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์ได้คำแนะนำในการเลี้ยงหมูหลุมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มั่นใจ ไม่มีกลิ่นเหม็น หมูกินนอนสบายไม่เครียด คุณภาพซากดี มันบาง เนื้อนุ่ม รสชาติดี เนื้อแห้ง เก็บรักษาได้นาน มูลหมูหลุมสามารถนำมาเป็นปุ๋ยหมักอย่างดี ทั้งใช้เองและจำหน่าย นับเป็นคำตอบที่สมบูรณ์ ลงตัว มั่นคง ยั่งยืน ตามศาสตร์พระราชา จึงมีความคิดขยายกิจการการเลี้ยงหมูหลุมจากอาชีพเสริมกลายมาเป็นอาชีพหลัก ปัจจุบันมีแม่พันธุ์ 120 ตัว หมูสาวทดแทน 30 ตัว พ่อพันธุ์ 7 ตัว ผลิตหมูหลุม 1,500 ตัว/ปีและได้ปุ๋ยอินทรีย์ (ขี้หมูหลุม) มากกว่า 300 ตัน/ปี ในปี 2552 ได้ตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ภายใต้กลุ่มเกษตรกรทำสวนชุมชนในง่วมบ้านนา และได้จดทะเบียนกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์หมูหลุมกับกรมปศุสัตว์ชื่อ “กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลุมเมืองชุมพร” เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 โดยมีนายชลอ เหลือบุญเลิศ เป็นประธาน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายชลอ ประกอบอาชีพเลี้ยงหมูหลุมจากอาชีพเสริมกลายเป็นอาชีพหลัก มุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรคเรียนรู้และพัฒนาการเลี้ยงหมูหลุมมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ พร้อมทั้งได้เผยแพร่การเลี้ยงหมูหลุมสู่บุคคลและชุมชนต่างๆ เพื่อจะได้ประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน จนได้รับรางวัลยกย่อง อาทิ เป็นผู้นำเกษตรกรทำสวนชุมชนในร่วม ได้รับรางวัลกลุ่มมีผลงานดีเด่นในการประยุกต์ใช้ปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ระดับชาติ (ประเทศ) ขององค์การเกษตรในอนาคตแห่งประเทศไทย โดยรับโล่รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และได้รับคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น ระดับจังหวัดชุมพร และสำนักงานปศุสัตว์เขต 8 ฯลฯ ส่วนผลงานการบริหารจัดการด้านปศุสัตว์ มี ด้านพันธุ์สุกร ปรับปรุงสายพันธุ์โดยเริ่มต้นจากการจัดซื้อพันธุ์สุกรเลือด 100 เพื่อผลิตแม่พันธุ์หมูขุน คือ แม่พันธุ์แท้ลาร์จไว์ท และพ่อพันธุ์แลนด์เรซ เพื่อผลิตเป็นแม่ 2 สายพันธุ์ (ลาร์จไว์ท+แลนด์เรซ) นอกจากใช้ทดแทน ในฝูงแม่พันธุ์ของตนเองและยังจำหน่ายแก่สมาชิกในกลุ่ม และเกษตรกรทั่วไปในราคายุติธรรมพร้อมทั้งให้คำแนะนำการปฏิบัติดูแลสุขภาพสุกรที่ถูกต้อง ด้านอาหาร รวมกลุ่มจัดซื้ออาหารจากบริษัทโดยตรงทำให้ลดต้นทุน ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถต่อรองถึงความต้องการได้ เช่น การเลี้ยงหมูหลุมต้องการอาหารที่มีเม็ดแข็ง ความชื้นต่ำ เม็ดอาหารเล็ก (เนื่องจากหมูหลุมมีพฤติกรรมขุดคุ้ยตามธรรมชาติตลอดเวลา จมูกหมูจึงมีความชื้น หากเม็ดไม่แข็งความชื้นสูงก็จะทำให้เม็ดอาหารแตกเป็นผงง่ายและอาหารเสื่อมคุณภาพเร็วทำให้สูญเสียประสิทธิภาพการให้อาหาร) มีการให้อาหารสุกรระยะต่างๆ เช่น สุกรระยะดูดนมแม่ ลูกสุกรอนุบาล สุกรขุน (หมูหลุม) สุกรแม่พันธุ์ระยะต่างๆ และพ่อ-แม่สุกรปลดระวาง มีการให้อาหารเสริม คือ ผลกล้วยหอมสุก ต้นกล้วยสับเป็นชิ้นๆ และหญ้าเนเปียร์สด สามารถเปลี่ยนวัสดุเหลือทิ้งไม่มีค่าให้เปลี่ยนเป็นอาหารเสริมที่มีประโยชน์ได้เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงหมูหลุมได้ ด้านการสุขาภิบาลทำวัคซีนโดยมีโปรแกรมสำหรับ พ่อ-แม่พันธุ์ ลูกสุก/สุกรขุน มีการฆ่าเชื้อ มีถังน้ำยาฆ่าเชื้อและรองเท้าบูทไว้เวลาเข้า-ออก โรยปูนขาวสำหรับคอกอนุบาล ฉีดพ่นพื้นคอกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทั้งภายในคอกและทางเดิน เมื่อเสร็จแล้วโรยปูนขาวให้ทั่ว พักคอกทิ้งไว้อย่างน้อย 7 วัน จึงล้างทำความสะอาดแล้วนำลูกหมูเข้าคอก มีการใช้น้ำหมักชีวภาพ คือ น้ำหมักมังคุด โดยทำการราดทุกๆ 7 - 10 วัน / ครั้ง เพื่อลดกลิ่นแก๊สและกลิ่นของหมูหลุม พร้อมทั้งเพิ่มคุณค่าของวัสดุรองพื้นให้ย่อยสะลายกลายเป็นปุ๋ยหมักคุณภาพดี ด้านการจัดการฟาร์มมีการจดบันทึกการปฏิบัติงานแม่สุกรเป็นรายตัว การจัดการคอก โรงเรือนและอุปกรณ์ พ่อ-แม่พันธุ์สุกร มีโรงเรือนสำหรับเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ โรงเรือนสำหรับคอกคลอดโดยเฉพาะ โรงเรือนหมูหลุมสร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรงทนทาน ง่ายในการทำความสะอาดและบำรุงรักษา หลังคาของโรงเรือนมีลักษณะ 2 ชั้น ทำให้มีการระบายอากาศได้ดี และเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกระดับการเลี้ยงหมูหลุมในรูปแบบชาวบ้านทั่วไปให้เป็นการเลี้ยงหมูหลุมในรูปแบบฟาร์มมาตรฐาน เพื่อรองรับการเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงหมูหลุมของกรมปศุสัตว์ต่อไป ด้านการตลาดและการแปรรูปมีการวางแผนด้านการตลาด การจำหน่ายหมูมีชีวิตและแปรรูป จำหน่ายลูกสุกรผลิตลูกสุกรคุณภาพบริการจำหน่ายแก่สมาชิกในราคายุติธรรม จำหน่ายพ่อ-แม่พันธุ์ เดิมซื้อแม่พันธุ์ผลิตลูกขุนจากฟาร์มและบริษัทหลายแห่งปัญหา คือ สายพันธุ์ไม่ตรงตามที่ตกลง และปัญหาใหญ่คือสุกรย้ายที่มาใหม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพต้องดูแลเป็นพิเศษ จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงตัดสินใจซื้อเฉพาะพ่อ-แม่พันธุ์แท้มาผลิตแม่พันธุ์ 2 สายเลือด ใช้เองและจำหน่ายแก่สมาชิกในราคาที่เป็นธรรม มีการรับประกันความเสียหาย พร้อมบริการให้คำแนะนำจนสมาชิกเกิดความมั่นใจ ปัจจุบันจำหน่ายพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์หรือแม่สุกร 2 สายปีละประมาณ 50 ตัว จำหน่ายหมูหลุมชำแหละในชื่อ “หมูหลุมในง่วม” มีการวางแผนการจำหน่ายเนื้อหมูหลุมชำแหละ เพื่อเพิ่มรายได้ จำหน่ายในหลายๆ สถานที่ เช่น ตลาดเกษตรกรจังหวัดชุมพร ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมพร ธกส. ชุมพร ส่งร้านอาหารมีผู้ที่บริโภคเนื้อหมูหลุมเป็นประจำ ตลาดนัดชุมชนภายในหมู่บ้าน เพื่อให้คนในชุมชนที่อยู่อาศัยได้บริโภคเนื้อหมูที่ปลอดภัย ปัจจุบันจำหน่ายเนื้อหมูหลุมชำแหละสัปดาห์ละ 5 ตัว หรือประมาณ ปีละ 260 ตัว การแปรรูปหมูหลุม ได้ทำเนื้อหมูแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ คือ “บาร์บีคิวหมูหลุม” จำหน่ายในเทศกาลงานสำคัญของจังหวัดเป็นประจำและรับทำให้กับผู้บริโภคทั่วไปในงานเลี้ยงต่างๆ เนื้อหมูหลุมและบาร์บีคิวเป็นผลิตภัณฑ์ได้รับหนังสือรับรองว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดงจากการวิเคราะห์อย่างละเอียดของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ด้านความภาคภูมิใจ และรางวัล นายชลอ ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาการเลี้ยงหมูหลุมจนประสบความสำเร็จ เป็นที่รับทราบโดยทั่วกัน นอกจากนี้ยังมีบทบาทความเป็นผู้นำอีกหลายองค์กรที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐ ดังนี้ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนชุมชนในง่วมบ้านนา ประธานเครือข่ายขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถาบันเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ประธานตลาดเกษตรกรจังหวัดชุมพร คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันผู้ปลูกกาแฟแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรอำเภอเมืองชุมพร เลขานุการคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรจังหวัดชุมพร ประธานคณะกลุ่มผู้เลี้ยงหมูหลุมเมืองชุมพร และคณะทำงานพัฒนาสุกรรายย่อย (กรมปศุสัตว์)
นายชลอ เหลือบุญเลิศ ยังมีตำแหน่งหน้าที่บทบาทในกิจกรรมอาสาจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อถ่ายทอด สู่ชาวบ้านและชุมชน เช่น ปศุสัตว์อาสาของกรมปศุสัตว์ เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ เครือข่าย ศพก. ด้านปศุสัตว์ แหล่งเรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุม หมอดินอาสา ได้รับการยอมรับให้เป็นวิทยากรบรรยายในการฝึกอบรมของหน่วยงานต่างๆ บรรยายหลักสูตร Young Smart Farmer / สมาชิกแปลงใหญ่ ในหัวข้อการตลาดสินค้าเกษตร - บรรยาย เรื่อง การเลี้ยงหมูหลุมในเวทีต่างๆ ทั้งที่ฟาร์มและนอกสถานที่ ทั้งยังได้พัฒนาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ “ปุ๋ยหมักมูลหมูหลุม” จากการศึกษาวิเคราะห์ทดลองอย่างจริงในการใช้วัสดุรองพื้นคอกหมูหลุม โดยสามารถกำหนดชนิดของวัสดุรองพื้น ปริมาณการใช้ จำนวนหมูหลุมที่เลี้ยง วิธีการใช้วัสดุ ระยะเวลาการเลี้ยง การควบคุมความชื้น และการย่อยสภาพของวัสดุรองพื้นให้กลายเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช โดยได้รับใบอนุญาตการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ปุ๋ยหมัก (เกรด 1) เลขที่ 10350/2560 รหัส กษ 06 9999 1786 10350 จากกรมพัฒนาที่ดิน
“นายชลอ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความผู้นำ พร้อมกับเป็นผู้ตามที่ดี มีความรู้ มีประสบการณ์ ทำงานด้วยความเสียสละ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เป็นที่รู้จักนับถือของคนทั่วไป ด้านส่วนรวมร่วมปลูกต้นไม้และพัฒนาฯ บริจาคปุ๋ยหมักมูลหมูหลุมเพื่อใช้ในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการปลูกผักอินทรีย์ของโรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โครงการปลูกดาวเรืองของสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร บริจาคเนื้อหมูหลุมและจำหน่ายราคาถูกในการจัดงานของชุมชน มอบแม่พันธุ์สุกรสาวทดแทนให้สมาชิกผู้เลี้ยงสุกรเมื่อครั้งประสบภัยน้ำท่วม บริการฉีดวัคซีนสุกร และให้คำปรึกษารักษาโรคแก่สมาชิกและเกษตรเลี้ยงสัตว์บริเวณใกล้เคียงในราคาทุน ให้ความร่วมมือหน่วยงานราชการเพื่อทำประโยชน์ สู่ประชาชนให้ความร่วมมือกรมปศุสัตว์ในการประชุม หรือการจัดทำมาตรฐานการเลี้ยงหมูหลุม ด้านการถ่ายทอดความรู้ ฟาร์มหมูหลุมในง่วมของนายชะลอ เหลือบุญเลิศเป็นสถานที่ศึกษาดูงานและปฏิบัติงานนิสิต นักศึกษา เกษตรกรและผู้สนใจมากมาย พร้อมเป็นวิทยาการบรรยายในทุกมิติของการเลี้ยงหมูหลุมด้วยความเต็มใจ ไม่ปิดบัง สร้างความพึงพอใจแก่ผู้มาเยี่ยมทุกท่าน ด้านสังคม เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ด้านปศุสัตว์) / เป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุม / เป็นศูนย์กลางการประสานงาน การผลิต การตลาด แก่สมาชิก ผู้เลี้ยงหมูหลุมทั่วไป / เพิ่มช่องทางการเผยแพร่การเลี้ยงหมูหลุมในสื่อออนไลน์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชลอ มีแนวคิดปฏิบัติตนตามปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง ดำรงชีวิตตามฐานะ ไม่ฟุ่มเฟือยและพยายามถ่ายทอดหลักปฏิบัติสู่ชาวบ้านและชุมชนตลอดมา ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแบบอย่างของการลดการใช้สารเคมีในการเกษตรหันมาใช้ปุ๋ยหมักมูลหมูหลุมที่ผลิตเอง ใช้มูลหมูหลุมหมัก (ปุ๋ยหมักเกรด 1) แทนปุ๋ยเคมี ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงและยังประหยัดต้นทุนค่าใช้ในการทำการเกษตรได้เป้นอย่างดี อีกทั้งยังปรับปรุง บำรุงดิน ให้สมบรูณ์ ในรูปแบบธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน นำวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปพืชผลการเกษตร เช่น ขุยมะพร้าว ทะลายปาล์ม แกลบกาแฟ ฯลฯ มาเป็นวัสดุรองพื้นและกลายสภาพเป็นปุ๋ยหมักเกรด1 นำเศษผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือจำหน่ายและพืชต่าง ๆ ในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดยการนำมาให้หมูหลุมกินเป็นการประหยัดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ เช่น กล้วยหอมทองคัดทิ้ง หญ้าและถั่วต่าง ๆ ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์หนอนแมลงวัน นำผลผลิตการเกษตร (มังคุด) มาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ ราดหมูหลุม ทำให้หมูมีสุขภาพดี แข็งแรง ลดการใช้ยาและสารเคมีทุกชนิด ประหยัดพลังงานน้ำ ไฟฟ้า การเลี้ยงหมูหลุมไม่มีการอาบน้ำ ถือได้ว่าใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4444 ต่อ 2271” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
*********************************************
ข้อมูล : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม