วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.30 น. นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตร “พนักงานตรวจเนื้อสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก” รุ่นที่ 2/2564 สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในด้านการตรวจเนื้อสัตว์ รวมถึงเทคนิคและวิทยาการใหม่ในงานด้านสัตวแพทย์สาธารณสุข และรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางกฎระเบียบประเทศผู้นำเข้าและมาตรฐานสากล ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2563
ณ โรงแรมแมนดาริน อีสต์วิลล์ พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “พนักงานตรวจเนื้อสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก” รุ่นที่ 2/2564 สำหรับผู้ประกอบการ เป็นหลักสูตรที่เน้นให้ความรู้ ความเข้าใจในด้านการตรวจเนื้อสัตว์ รวมถึงเทคนิคและวิทยาการใหม่ในงานด้านสัตวแพทย์สาธารณสุข และรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางกฎระเบียบประเทศผู้นำเข้าและมาตรฐานสากล โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับการอบรมได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และข้อมูลในการควบคุมการตรวจเนื้อสัตว์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับกับบริบทแวดล้อมด้านการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่มีการเปลี่ยนแปลงย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าและมาตรฐานสากล โดยสามารถนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานด้านการตรวจเนื้อสัตว์ ให้สอดคล้องตามมาตรฐานข้อกำหนดหรือกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า
โครงการฝึกอบรมหลักสูตร ““พนักงานตรวจเนื้อสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก” รุ่นที่ 2/2564 สำหรับผู้ประกอบการ เป็นอีกหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาการปศุสัตว์ให้เป็นผู้รู้คิด รู้รอบ สั่งสมความเชี่ยวชาญในอาชีพ และมีศักยภาพที่พร้อมรับกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแข็งแกร่ง เพื่อก้าวเข้าสู่การยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศและเป็นกลไกหลักในการผลักดันให้กรมปศุสัตว์ไทยสามารถแข่งขันได้อย่างไร้ขีดจำกัดในเวทีโลก ผ่านการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์กรมปศุสัตว์ พ.ศ.2561 – 2565 ซึ่งภาคการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ถือเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายหลักขององค์กรและประเทศไทยที่กรมปศุสัตว์ต้องส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ภาคการส่งออกทั้งของรัฐและเอกชนต้องแลกมาด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า และมาตรฐานสากล ตลอดจนต้องเผชิญกับมาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) ซึ่งแตกต่างจากการค้าภายในประเทศ กระบวนการทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตจำเป็นต้องได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้กำหนดมาตรฐานอาหารที่สูงและปรับปรุงกฎระเบียบและข้อกำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องและรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศของตนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของทิศทางตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อเพื่อรองรับตลาดส่งออก ทำให้มีความจำเป็นต้องเพิ่มการพัฒนาบุคลากรในสายงานด้านความปลอดภัยของอาหาร
“การฝึกอบรมดังกล่าว ถือเป็นผลดีที่ทำให้การส่งออกของประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก และรักษามาตรฐานการควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า ตลอดจนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการอบรม ได้นำความรู้และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มาปรับใช้ในการทำงานและเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป”
ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์
ข่าว : น.ส.สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ