วันที่ 14 ธันวาคม 2563 เวลา 09.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร HACCP ขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ รุ่นที่ 3 เพื่อพัฒนาบุคลากรภาคเอกชนให้มีความรู้ความเข้าใจในระบบ HACCP และสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเตรียมความพร้อมของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในการขอรับรองระบบ GMP และ HACCP ในระหว่างวันที่ 14 – 18 ธันวาคม 2563 โดยมีผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 60 คน ณ โรงแรมแคนทารี อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร HACCP ขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ รุ่นที่ 3 เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ สามารถนำระบบ HACCP ไปใช้ในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพ อาหารสัตว์ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และทําให้เกิดความปลอดภัยทั้งระบบการผลิตอาหารสัตว์ สามารถลดอันตรายที่อาจปนเปื้อนในอาหารสัตว์ ทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ โดยเฉพาะโรคระบาดสัตว์ ได้แก่ โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร รวมถึงการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของห่วงโซ่อาหารและอาหารสัตว์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ จะได้นําความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเป็นผลดีทําให้การผลิตอาหารสัตว์มีประสิทธิภาพมีคุณภาพ เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดฝึกอบรมครั้งนี้

          ด้านนายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตระหนักถึงความสําคัญและความจําเป็นที่จะต้องมีการนําระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิต หรือ Hazard Analysis and Critical Control Point (HACCP) มาใช้เพื่อควบคุม คุณภาพอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายใน อุตสาหกรรมอาหาร จึงมีการนําระบบ HACCP มาพัฒนาใช้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และเป็นเงื่อนไขสําคัญที่ลูกค้ากําหนดไว้ในการซื้อขายอาหารสัตว์ แต่ปัญหาที่สําคัญใน ขณะนี้ก็คือการขาดแคลนบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความสามารถด้าน HACCP ซึ่งยังไม่เพียงพอกับปริมาณโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมให้บุคลากรทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน มีความรู้ ความสามารถในเรื่องระบบ HACCP อย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องสําคัญที่ต้องเร่งดําเนินการอันจะเป็นการ เตรียมความพร้อมสําหรับเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศเริ่มมีข้อบังคับให้ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ต้องใช้ระบบ HACCP มาใช้ในกระบวนการผลิต และนอกจากนี้ปัจจุบันทั่วโลกยังมีปัญหาเรื่องโรคระบาดสัตว์ เช่น โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร รวมถึงการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ฟาร์ม โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์ (From Farm to table) ดังนั้น โครงการนี้สามารถทําให้เกิดความปลอดภัยในอาหาร food safety เป็นอย่างดี

          สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เป็นการฝึกอบรมให้แก่บุคลากร ซึ่งประกอบการผลิตอาหารสัตว์ภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) ในการผลิตอาหารสัตว์ไปใช้ในการควบคุมการผลิตอาหารสัตว์ให้ได้คุณภาพและมีความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของประเทศคู่ค้าและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสอดคล้องกับนโยบายของกรมปศุสัตว์ ที่ต้องการให้เกิดความปลอดภัยตลอดจนห่วงโซ่อาหารรวมถึงอาหารสัตว์ สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคภายในประเทศ ตลอดจนประเทศคู่ค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ ให้ได้รับอาหารสัตว์ที่ปลอดภัย เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตอาหารและอาหารสัตว์ของไทย สามารถส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 5 หมื่นล้านบาท อีกด้วย

 

ข้อมูล : กองควบคุมอาหารและยาสัตว์

ข่าว : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ