วันที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00 น. นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ “ร่างพระราชบัญญัติช้าง” รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติช้าง โดยมี นายสมเกียรติ พันธ์ศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กล่าวรายงาน ในการจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้มีผู้ประกอบการ หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 100 คน ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช้างหลายฉบับ และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายกระทรวง เช่น กฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยป้องกันการทารุณกรรมฯ โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ยังไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้พบปัญหาเกี่ยวกับช้างอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการนำช้างป่ามาสวมทะเบียนเป็นช้างบ้าน การนำช้างมาเร่ร่อนเพื่อแสวงหาประโยชน์ การทารุณกรรมช้าง การนำช้างออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่นำกลับเข้ามา การลักลอบค้างาช้าง ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับช้าง และการจัดสวัสดิภาพช้างที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ควาญช้าง ผู้ประกอบการและประชาชนที่รักและผูกพันกับช้างเกิดความเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับการคุ้มครองและดูแลรักษาช้างไทยของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดการยกร่างพระราชบัญญัติช้างขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการในการคุ้มครองและดูแลช้างไทยอย่างเป็นระบบ ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการทำ
ประชาพิจารณ์กับประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับร่างพระราชบัญญัตินี้ เช่น เจ้าของช้าง ผู้ประกอบกิจการปางช้าง ควาญช้าง องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ มูลนิธิต่าง ๆ การจัดประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ดังกล่าวจะจัดขึ้นในทุกภูมิภาคเป็นจำนวน 4 ครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ และพังงา โดยจะพูดถึงประเด็นที่สำคัญ เรื่องการแจ้งและการขึ้นทะเบียนช้าง ควาญช้าง ซากช้าง และผลิตภัณฑ์ช้าง การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบกิจการช้าง
การป้องกันการทารุณกรรมช้างและการจัดสวัสดิภาพช้าง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข “ร่างพระราชบัญญัติช้าง” ต่อไป
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จจากการประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ เป็นการร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับ “ร่างพระราชบัญญัติช้าง” ของผู้มีความรู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้กรมปศุสัตว์ได้รับทราบถึงความต้องการที่แท้จริง แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สมบูรณ์และสามารถบังคับใช้กับประชาชนได้อย่างเหมาะสม เป็นธรรม มีประสิทธิภาพต่อไป
---------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูล : กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ
ข่าว : นางสาววรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ สำนักงานเลขานุการกรม