นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ว่า ประเทศไทยพบอัตราการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 46 และมีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 86 ราย/ปี นับแต่นั้นเป็นต้นมา กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย โดยได้สร้างความรู้ความเข้าใจด้านโรคพิษสุนัขบ้า รณรงค์ฉีดวัคซีน การควบคุมประชากรสุนัขและแมว รวมทั้ง การเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าแบบเชิงรุกและเชิงรับทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงาน องค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  สำนักนายกรัฐมนตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึง องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งจากการบูรณาการดำเนินงานด้านโรคพิษสุนัขบ้า พบว่าสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบันลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีอัตราการติดเชื้อในสัตว์เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันประชากรสุนัขและแมวทั้งหมดในประเทศไทยมีประมาณ 11 ล้านตัว โดยแบ่งออกเป็นประชากรสุนัขและแมวจรจัดประมาณ 1 ล้านตัว ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะสัตว-แพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการผลักดันในการสำรวจและขึ้นทะเบียนประชากรสุนัขและแมวลงในระบบฐานข้อมูลของประเทศไทยให้ได้ครบถ้วน 100%  และจากความร่วมมือร่วมใจจากหลายภาคส่วนภายใต้แผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” อันประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์  ยุทธศาสตร์ที่ 3 การ เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในคน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 5 การประชาสัมพันธ์ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า  ยุทธศาสตร์ที่ 7 การติดตามและประเมินผล และยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งผลให้พบรายงานผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้าลดลงเหลือ 3.42% ของตัวอย่างทั้งหมดที่ส่งตรวจ (6,783 ตัว) จาก 77 จังหวัด และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 3 ราย ในปี พ.ศ. 2563 (1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 63)

โดยในปี พ.ศ.2564 จะเน้นผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน พร้อมประเมินและรับรองสถานะปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าเบื้องต้น พบว่ามีจังหวัดทีไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ติดต่อกัน 2 ปี จำนวนทั้งสิ้น 26 จังหวัด และไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ติดต่อกัน 1 ปี อีกจำนวน 17 จังหวัด ทั้งนี้ ในการประเมินพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าจะเริ่มผลักดันจากหน่วยย่อยในระดับท้องถิ่นขึ้นไปจนถึงในระดับอำเภอ และจังหวัด ซึ่งพบว่ามีท้องถิ่นที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ติดต่อกัน 2 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 1,125 ท้องถิ่น และไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ติดต่อกัน 1 ปี อีกจำนวน 6,321 ท้องถิ่น จากทั้งหมด 7,870 ท้องถิ่น และมีแนวโน้มที่จะสามารถผลักดันในการประเมินเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดยมีหลักเกณฑ์ในการประเมิน ดังนี้ ประการแรก ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี โดยผู้เสียชีวิตหรือสงสัยโรคพิษสุนัขบ้าได้รับการตรวจยืนยันทุกราย และมีการติดตามผู้สัมผัสสัตว์ป่วยให้ได้รับวัคซีนหลังการสัมผัสร้อยละ 100

ประการที่สอง ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่พบตัวอย่างในสัตว์ ให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าเป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างน้อย  2 ปี ทั้งจากการเฝ้าระวังโรคเชิงรับ กรณีพบสัตว์แสดงอาการสงสัยเข้าข่ายตามนิยามโรคพิษสุนัขบ้า และเฝ้าระวังโรคเชิงรุก โดยให้มีการส่งตัวอย่างสุนัขหรือแมวจำนวนร้อยละ 0.01 ของจำนวนสุนัขและแมวในพื้นที่

ประการที่สาม ต้องมีการสำรวจประชากรสุนัขและแมวในพื้นที่อย่างครอบคลุม และมีการขึ้นทะเบียนลงในระบบฐานข้อมูลประชากรสุนัขและแมวอย่างน้อยร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรสุนัขและแมวในพื้นที่

ประการที่สี่ ต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรสุนัขและแมวในพื้นที่

และประการที่ห้า ต้องมีการควบคุมประชากรสุนัขและแมวในพื้นที่ โดยมีการบริหารจัดการสุนัขและแมวที่ไม่มีเจ้าของในพื้นที่ และมีการเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสุนัขและแมวเข้าออกพื้นที่

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวส่งผลสำเร็จไปในทางที่ดีและมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะสามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยได้ในที่สุด อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

**********************************

ข้อมูล/ข่าว : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์