นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ นำเสนอข่าวกรณีนายสังวาลย์ โพธิ์มี ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก แจ้งว่าตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ทำให้โรงเรียนในพื้นที่ควบคุม 28 จังหวัด ปิดการเรียนการสอน ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมไม่สามารถส่งนมโรงเรียนได้ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไม่มีที่จำหน่ายน้ำนมดิบ จำเป็นจะต้องเทน้ำนมดิบทิ้ง ที่ อ.ส.ค.ภาคใต้ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ ทางชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือเยียวยาแก้ปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เป็นการเร่งด่วน เพื่อขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) หรือหน่วยงานจัดซื้อ ดำเนินการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที แทนผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดพาสเจอไรส์ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ ดื่มนมอย่างต่อเนื่อง และขอให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที แทนผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดพาสเจอไรส์ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/หน่วยงานจัดซื้อ หรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นมโรงเรียน) นอกจากนี้ จะขอให้มีมาตรการเป็นการเร่งด่วน เพื่อระบายผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที คงเหลือจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 (รอบแรก) ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยการนำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที เอาไว้ทั้งหมด เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมมีสต็อกคงเหลือจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถรับน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้
กรมปศุสัตว์จึงขอแจ้งข้อเท็จจริงให้ทราบว่า ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ลงวันที่ 2 มกราคม 2564 ทำให้โรงเรียนใน 28 จังหวัดต้องปิดการเรียนการสอน จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ไม่สามารถจัดส่งนมโรงเรียนที่ได้ดำเนินการผลิตไว้แล้วได้ อีกทั้ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมไม่สามารถขายน้ำนมได้ ส่งผลให้มีปริมาณผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนค้างสต็อกและใกล้หมดอายุอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น กรมปศุสัตว์ จึงจัดการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อหาแนวทางการจัดส่งนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ และเสนอแนวทางการส่งนมโรงเรียนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ แก่คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน พิจารณาเห็นชอบภายในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2564 นี้
นอกจากนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) (รอบแรก) กรมปศุสัตว์ ได้เสนอโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม เพื่อขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 มกราคม 2564 หากมีความก้าวหน้าอย่างไรนั้น กรมปศุสัตว์จะแจ้งให้ทราบในลำดับต่อไป ซึ่งในแต่ละปีมีปริมาณน้ำนมดิบที่เป็นโควตาโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน จำนวนประมาณ 1,050 ตันต่อวัน สำหรับให้เด็กนักเรียนจำนวน 7 ล้านคนได้ดื่ม ดังนั้น จึงต้องมีการบริหารจัดการให้เด็กๆ ได้บริโภคน้ำนมที่มีคุณภาพ อย่างต่อเนื่องทั่วถึง เพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง เจริญเติบโตเทียบเท่ากับเด็กในต่างประเทศ และที่สำคัญคือ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องขายน้ำนมได้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
*************************************************
ข้อมูล : สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ ข่าว : น.ส.เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ