การคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2564 จะได้รับรางวัลโล่พระราชทาน ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ คือ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เกาะแกด จังหวัดอุบลราชธานี เลขที่ 19 หมู่ที่ 8 ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2548 มีสมาชิกแรกตั้ง 30 คน สมาชิกปัจจุบัน 169 คน นายสุนทร ทองแสน เป็นประธาน โทร. 084 301 9166
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงานของกลุ่มเกษตรกรบ้านเกาะแกด ว่า เดิมประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดอน ป่าชุมชน มีทุ่งหญ้า และแหล่งน้ำธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเลี้ยงโค กระบือ ซึ่งเกษตรกรชาวบ้านเกาะแกดส่วนใหญ่เลี้ยงกระบือเป็นอาชีพเสริม แต่ขาดรูปแบบการจัดการที่ดี ขาดการปรับปรุงพันธุ์ การจัดการด้านอาหาร ด้านสุขภาพ สัตว์ไม่แข็งแรงทำให้การเจริญเติบโตช้า และเนื่องจากไม่ได้รวมกลุ่ม ต่างคน ต่างเลี้ยง ต่างคนต่างขาย จึงถูกเอาเปรียบและถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง แต่ก็ยังคงมีการเลี้ยงกระบือเพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์กระบือ ต่อมาได้รวมกลุ่มกันจำนวน 30 ราย แต่การรวมกลุ่มเกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรที่มีปัญหาทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตทางเกษตรล้นตลาด สมาชิกขาดองค์ความรู้ในด้านการเลี้ยงสัตว์ ในระยะเริ่มรวมกลุ่มสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานีได้สนับสนุนกระบือแม่พันธ์ลูกติด ซึ่งได้รับงบประมาณจากจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อซื้อกระบือแม่พันธุ์ลูกติดเดินตามให้กับกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เกาะแกด จำนวน 16 แม่ กลุ่มฯบริหารจัดการโดยให้สมาชิกยืมกระบือแม่พันธุ์ไปเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริม สมาชิกที่เลี้ยงจะได้ลูกกระบือที่หย่านมแล้วเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ส่วนกระบือแม่พันธุ์จะคืนให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อหมุนเวียนให้กับสมาชิกรายอื่น
ในปี พ.ศ. 2551 สมาชิกประสบปัญหาราคาต้นทุนและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น ส่งผลให้สมาชิกต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น อาทิ การซื้อปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์จากร้านค้า ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เกาะแกดมีสมาชิกเลี้ยงกระบือจำนวนมาก จึงได้เริ่มรับซื้อมูลสัตว์จากสมาชิก และจัดตั้งเป็นธนาคารปุ๋ยมูลสัตว์ เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพจำหน่ายให้กับสมาชิกและบุคคลทั่วไป เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับทั้งสมาชิกและกลุ่ม ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์และมีสมาชิกภายในชุมชนขอเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้น เมื่อได้รับคำแนะนำจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอโพธิ์ไทรทำให้กลุ่มมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น กลุ่มมีความต้องการที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสามารถปรับปรุงพันธุ์กระบือให้ดีขึ้น จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือของกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรได้ส่งเสริมการเลี้ยงกระบือโดยขยายผลสู่สมาชิก สามารถขยายผลและปรับปรุงแม่พันธุ์จากเดิมที่ได้รับจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี 16 ตัว เพิ่มเป็นกระบือแม่พันธุ์และลูกกระบือ มากกว่า 400 ตัว ทำให้เกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถส่งลูกหลานเรียนหนังสือ เป็นรายได้ที่มั่นคงมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรกรมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อองค์กร เกิดความร่วมมือในการทำธุรกิจ และกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีปริมาณธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้มีกำไรและสามารถจ่ายเงินเฉลี่ยและเงินปันผลคืนให้กับสมาชิก
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เกาะแกด มีความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม ให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีการดำเนินการด้านการบริหารองค์กร กลุ่มมีระเบียบข้อบังคับที่เอื้อต่อความสำเร็จของกลุ่ม โดยสมาชิกทุกคนยอมรับระเบียบข้อบังคับ มีคณะกรรมการบริหารกลุ่มแบ่งหน้าที่ตามความถนัด มีการจัดทำแผนการดำเนินงานประจำทุกปี มีการกำหนดแผนมาตรฐานการดำเนินงานของกลุ่ม เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสมาชิก มีการกำหนดโครงสร้างขององค์กรที่เหมาะสมสอดคล้องกับขนาดของการดำเนินธุรกิจ มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการโดยสมาชิกในที่ประชุมใหญ่เป็นผู้เลือกตั้งตามข้อบังคับ มีคณะกรรมการ 11 คน มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ในการกำกับ ดูแล และควบคุมงานที่ชัดเจนและเหมาะสม กลุ่มเกษตรกรมีการแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างบุคคล โดยจัดให้มีการตรวจสอบความถูกต้องระหว่างกัน ไม่ให้บุคคล คนเดียวปฏิบัติงานตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อข้อผิดพลาด มีการแบ่งงานตามธุรกิจเพื่อลดช่องว่างและการทำงานซ้ำซ้อน แบ่งแยกหน้าที่เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานและการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ชัดเจนและเหมาะสม มีระบบการบริหารงานที่สอดคล้องกับนโยบายและมีทิศทางในการปฏิบัติงาน มีการประชุมวางแผนการดำเนินงานประจำปีและกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปี ควบคู่กับแผนการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและเป็นเครื่องมือในการควบคุมติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของกลุ่มเกษตรกร ด้านความรู้ ฝึกอบรมสมาชิก ได้แก่ ความรู้ด้านอาหารสัตว์และพืชอาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์และการปรับปรุงพันธุ์ การจัดการฟาร์มกระบือ การดูแลสุขภาพสัตว์ ฯลฯ จากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอโพธิ์ไทร และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี ด้านการจัดการ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงกระบือจากการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติมาเป็นแบบประณีต มีฟาร์มปลอดโรค และมีแปลงพืชอาหารสัตว์ เช่น กินนีสีม่วง รูซี่ เนเปียร์ อะตราตัม ฯลฯ ด้านการผลิต ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงกระบือของสมาชิกจากเดิมเลี้ยงกระบือโดยการผสมพ่อพันธุ์มาเป็นการปรับปรุงสายพันธุ์โดยมีการคัดสายพ่อพันธุ์ดีจากเทคโนโลยีการผสมเทียม ด้านเครือข่าย กลุ่มเกษตรกรมีสมาชิกเพิ่มขึ้น กลุ่มฯ มีบริการเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงกระบือให้สมาชิก ประกอบด้วย บริการดูแลรักษาสุขภาพกระบือ มีอาสาปศุสัตว์ประจำกลุ่ม ที่ผ่านการอบรมจากกรมปศุสัตว์ และมีกองทุนยาเวชภัณฑ์เพื่อให้บริการด้านสุขภาพสัตว์ อาทิ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค การรักษากระบือป่วยเบื้องต้น การสนตะพาย เป็นต้น
บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เกาะแกด ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างดี ประกอบอาชีพด้วยความขยันขันแข็งและดำรงชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการเพิ่มหุ้นและเงินฝากออมทรัพย์เป็นประจำ สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกลุ่มทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินงาน การรับผลประโยชน์ สมาชิกมีจิตสำนึกในความเป็นเจ้าของกลุ่มและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน/สังคม ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของกลุ่ม เข้าร่วมประชุมและร่วมกิจกรรมทุกครั้ง โดยสมาชิกกลุ่มเกษตรกรมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมประชุมใหญ่ประจำปี มีส่วนร่วมในการทำธุรกิจ คณะกรรมการเข้าใจบทบาทหน้าที่ มีความชื่อสัตย์ สุจริต มีภาวะผู้นำ มีความทุ่มเท อุทิศเวลาให้กับงาน/กิจกรรมของกลุ่ม ชุมชนและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี
การดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกร สมาชิกได้มีบทบาทและให้ความร่วมมือในกิจกรรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี อาทิ การเข้าร่วมประชุมและนำเสนอข้อมูลในการประชุมทุกครั้ง โดยเฉพาะข้อมูลการเลี้ยงกระบือของตนเองเพื่อวางแผนในการผลิต ร่วมกันปรับปรุงที่ทำการกลุ่มเพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้ความร่วมมือในการปรับปรุงสายพันธ์กระบือ การเข้าอบรมอาสาปศุสัตว์ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพกระบือเบื้องต้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการไปเข้ารับการอบรมหรือศึกษาดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ โดยการนำความรู้ที่ได้กลับมาถ่ายทอดและเผยแพร่เพื่อปรับปรุงความสามารถในการเลี้ยงกระบือของสมาชิกให้ดียิ่งขึ้น
ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน ผลจากการพัฒนากลุ่มอย่างเป็นระบบ มีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับ จึงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย โครงการอนุรักษ์พัฒนาการผลิตกระบือ โครงการเลี้ยงกระบืออย่างยั่งยืน โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อจัดหาปุ๋ยมาจำหน่ายแก่สมาชิก โครงการสนับสนุนเงินอุดหนุนจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ และโครงการลดภาระหนี้ร้อยละ 3 แก่สถาบันกลุ่มเกษตรกรจากรัฐบาล กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เกาะแกด ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีระเบียบข้อบังคับใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน มีคณะกรรมการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ได้รับการยอมรับจากสมาชิก ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความมั่นคง จำนวนปศุสัตว์เพิ่มขึ้น ทุนดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้น มีหุ้นและเงินออมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนทรัพย์สินของกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วย รายได้เกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรได้ส่งเสริมการเลี้ยงกระบือโดยขยายผลสู่สมาชิก โดยการขยายผลกระบือแม่พันธุ์ จากเดิมที่ได้รับจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี 16 ตัว เพิ่มกระบือแม่พันธุ์และลูกกระบือที่เลี้ยง มากกว่า 400 ตัว ทำให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มการขายกระบือและมูลกระบือ มีรายได้ที่มั่นคง คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อองค์กร เกิดความร่วมมือในการทำธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ มีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก เช่น กิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ การแปรรูปข้าวอินทรีย์ การเลี้ยงปลา การเพาะเห็ด และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จากสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรและมูลสัตว์ และกิจกรรมที่สร้างรายได้ เช่น การจัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกร การรวบรวมผลผลิตจำหน่าย และการทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์จำหน่าย
กิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาชิกร่วมกันทาสีอาคารเรียนและรั้วโรงเรียนบ้านคำมณี ทำความสะอาดถนนภายในหมู่บ้าน ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมเทิดพระเกียรติ งานวันเด็ก งานสำคัญทางศาสนา วันสำคัญต่าง ๆ การออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ของจังหวัด คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ และงานประจำปีของตำบลและอำเภออย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้สมาชิกใช้ปุ๋ยที่ผลิตจากมูลกระบือในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ตัดแต่งกิ่งต้นไม้ตามถนนหนทางและปลูกหญ้าแฝก จัดทำโครงการสงเคราะห์สมาชิกที่เสียชีวิตและบริการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงของสมาชิก สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4444 ต่อ 2271 ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
*****************************************
ข้อมูล : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม