การคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2564 จะได้รับโล่รางวัลพระราชทาน เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (อาชีพเลี้ยงสัตว์) พ.ศ. 2564 คือ นายพรหมพิริยะ สอนศิริ เลขที่ 66/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบางยาง อำเภอบ้าน จังหวัดปราจีนบุรี โทร. 092 632 9993 อายุ 51 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตบางพระชลบุรี คณะเกษตรศาสตร์บางพระชลบุรี สาขาสัตวศาสตร์) ชนิดปศุสัตว์ที่เลี้ยง กระบือ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน ว่า นายพรหมพิริยะ สอนศิริ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ คณะเกษตรศาสตร์บางพระชลบุรี สาขาสัตวศาสตร์ (ประมง) เริ่มทำงานในบริษัทเอกชนจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ต่อมามีปัญหาค่าตอบแทนจากยอดขายจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ต่อมาเปิดกิจการส่วนตัว เพื่อจำหน่ายอาหารเสริมเคมีภัณฑ์สำหรับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ต้องปิดกิจการเพราะปัญหาสารเคมีตกค้างในกุ้งและได้เปลี่ยนมาจำหน่ายอาหารเสริมสำหรับไก่ชนในนาม บริษัท เอกไก่ชน จำกัด บริษัทฯ พบวิกฤตการระบาดโรคไข้หวัดนกจึงต้องปิดตัวลง จากนั้นได้ผันตัวมาทำปศุสัตว์โดยการเลี้ยงโคเนื้อ โคสวยงาม เพาะพันธุ์ม้า สายพันธุ์ควอเตอร์ แต่ประสบปัญหาราคาม้าในตลาดตกต่ำ จึงตัดสินใจซื้อที่ดินประมาณ 70 ไร่ อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเพาะพันธุ์โคเนื้อ เน้นการเพาะพันธุ์โค ม้า แพะและแกะ เพื่อจำหน่ายพันธุ์ต่อมาประสบปัญหาการเลี้ยงจึงตัดสินใจเลิกเลี้ยง ในปี 2554 เกิดปัญหาอุทกภัยใหญ่ได้ปรึกษากับผู้มีประสบการณ์จึงปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำและลงตัวที่การเลี้ยงกระบือ (ควายไทย) ซึ่งเป็นการเลี้ยงในระบบแบบประณีตเต็มรูปแบบ โดยทำการเพาะพันธุ์กระบือเพื่อจำหน่ายเพียงอย่างเดียว ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา อยู่มาแม่พันธุ์กระบือที่เลี้ยงไว้เกิดอุบัติเหตุลูกกระบือเสียชีวิตหลังคลอด ทำการรีดนมออกเพื่อป้องกันเต้านมอักเสบ ได้ทดลองดื่มและนำนมที่รีดได้มาพาสเจอร์ไรซ์ ทำการเปรียบเทียบนมกระบือไทยกับนมกระบือสายพันธุ์มูร่าห์ที่จำหน่ายในท้องตลาด พบว่านมกระบือไทยมีรสชาติ มัน หวาน หอมและไม่มีกลิ่นคาว จากนั้นได้นำนมกระบือไทยเข้าสู่กระบวนการตรวจวิเคราะห์โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่านมกระบือไทยที่ผลิตได้มีคุณภาพดีเยี่ยม จึงเริ่มผลิตเพื่อจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการและเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของการเลี้ยงกระบือไทย นอกเหนือจากจำหน่ายสายพันธุ์เพียงอย่างเดียวภายใต้แบรนด์ Siam Buff Milk นายพรหมพิริยะฯ ได้นำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาประยุกต์ใช้ในฟาร์ม ปัจจุบันมีกระบือ 300 ตัว แบ่งเป็นแม่กระบือที่ให้ลูกและให้นม 146 ตัว ทำการเลี้ยงแบบประณีต โดยมีรูปแบบของโรงเรือนที่เป็นลักษณะปิด กางมุ้งกันแมลงแบบถาวร เทพื้นด้วยคอนกรีต มีแผ่นยางปูพื้นคอกสำหรับให้กระบือรองนอน ติดฝ้าเพดานป้องกันความร้อนและมีระบบพ่นหมอกเพื่อระบายความร้อน ใช้เทคโนโลยีเครื่องพ่นหมอกเข้ามาช่วยอัตโนมัติ วันละ 10 ครั้งๆ ละ 20 นาที ทุกชั่วโมง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นเวลา 10 กว่าปีที่ นายพรหมพิริยะ สอนศิริ ประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์ควบคู่ไปกับอาชีพเกษตรกรรม ทำสวน ทำไร่ จากอาชีพเสริมกลายมาเป็นอาชีพหลัก โดยมีความมุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อเรียนรู้และพัฒนาการเลี้ยงกระบือไทยให้เป็นที่รู้จัก พร้อมทั้งได้เผยแพร่องค์ความรู้การเลี้ยงกระบือไทยสู่ผู้ที่สนใจเพื่อนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน ตลอดจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะชน โดยมีระบบการบริหารจัดการด้านปศุสัตว์ ด้านพันธุ์สัตว์ คัดเลือกนำเข้าแม่พันธุ์จากแหล่งกำเนิดสายพันธุ์กระบือใหญ่ในประเทศไทย ปรับปรุงสายพันธุ์โดยการใช้กระบือพ่อพันธุ์ระดับแกรนด์แชมป์สีเผือกของฟาร์ม คือ เจ้าแก้วฟ้า และพ่อพันธุ์กระบือสีดำ คือ มณีแดง ด้านอาหาร ให้อาหารหยาบ คือ หญ้าสดเป็นหลักและเสริมด้วยฟางข้าว สำหรับอาหารข้นให้อาหารข้นเสริมจากสูตรที่คิดขึ้นเองตามวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับกระบือ ด้านการจัดการโรงเรือน เป็นแบบปิด มีการติดตั้งฝ้าเพดานป้องกันความร้อน มีแผ่นยางปูพื้นคอกเพื่อป้องกันการเกิดกีบเท้าบาน กางมุ้งแบบถาวรทั้งโรงเรือนเพื่อป้องกันแมลง ยุง เหลือบ ที่จะนำโรคต่าง ๆ มีระบบระบายอากาศที่ดี พ่นหมอกอัตโนมัติเพื่อคลายความร้อนและมีการทำความสะอาดโรงเรือนทุกวัน ด้านสุขาภิบาล มีการเก็บมูลกระบือทุกวัน มีถังยาฆ่าเชื้อไว้จุ่มรองเท้าก่อนเข้าฟาร์ม ระบบการพ่นยาฆ่าเชื้อรถที่เข้าบริเวณฟาร์ม กางมุ้งป้องกันยุงแมลงแบบถาวร แผ่นยางปูพื้นคอกเพื่อป้องกันการเกิดกีบเท้าบาน ทำวัคซีนตามโปรแกรมของกรมปศุสัตว์ ด้านมาตรฐานฟาร์ม ได้รับการรับรองเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม GFM ด้านการตลาดและการแปรรูป ผลิตและจำหน่ายลูกกระบือ (ราคาประมาณตัวละ 60,000 บาท) โดยจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่ต้องการพ่อแม่พันธุ์เพื่อนำไปปรับปรุงพันธุ์ของเกษตรกร ผลิตภัณฑ์จากนมกระบือ ประกอบด้วย นมเพื่อบริโภค โยเกิร์ต และเวชสำอาง และการใช้ประโยชน์จากมูลกระบือ เฉลี่ยวันละ 3,000 กิโลกรัม บรรจุใส่กระสอบ 15 – 20 กิโลกรัม เฉลี่ยกระสอบละ 40 บาท
นายพรหมพิริยะ สอนศิริ เป็นบุคคลที่มีความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความรู้ประสบการณ์ ทำงานด้วยความเสียสละ อุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นอุปนายกคนที่ 3 สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน (เกษตรน่าน) เป็นนายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย คนที่ 4 ของประเทศไทย การถ่ายทอดความรู้ เรื่องงบการพัฒนาการเลี้ยงกระบือ การพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ การให้ความรู้โครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานศึกษาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองยาว สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย จัดงานวันอนุรักษ์ควายไทยและบายศรีสู่ขวัญ ฯลฯ สนับสุนนการจัดงานมหกรรม ปศุสัตว์ชัยภูมิเพื่อชีวิตและเกษตรกรรมที่ยั่งยืนมหกรรมควายไทยล้านนา งานมหกรรมความยักษ์เมืองสองแควจังหวัดพิษณุโลก มหกรรมปศุสัตว์ นครชัยบุรินทร์ ช่วยเกษตรกรอินทรีย์ที่ทำนาบริเวณรอบ ๆ ฟาร์ม จัดงานประกวดกระบือจังหวัดร้อยเอ็ด การจัดงานมหกรรมปศุสัตว์แห่งชาติ บริจาคกระบือ
นายพรหมพิริยะ สอนศิริ มีแนวทางในการปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นแบบอย่างในการลดใช้สารเคมีทางการเกษตร นำมูลกระบือที่ได้จากฟาร์มไปทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ในรูปแบบตากแห้งและอัดเม็ด มีการเติมโดโรไมท์และปูนมาร์ลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับสภาพดินร่วมกับปุ๋ยคอกมูลกระบือปุ๋ยอินทรีย์มีส่วนผสมที่ไม่รบกวนและไม่สร้างความเดือดร้อนต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน การจัดการน้ำ มีระบบประปาภายในฟาร์มเพื่อที่จะได้มีน้ำใช้ตลอดปี ระบบบำบัดกำจัดน้ำทิ้งน้ำเสียจากน้ำฉีดล้างคอกเพื่อทำความสะอาด โดยการนำไปพักและบำบัดจากการใช้ EM Ball เป็นการเติมจุลินทรีย์ที่ดีช่วยในการสลายวัตถุเน่าเสียและสิ่งปฏิกูล ก่อนจะปล่อยลงสู่แปลงหญ้า ระบบการจัดการในฟาร์มไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าหญ้า ภายใต้แนวปฏิบัติการเลี้ยงกระบือที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหญ้าที่ได้ต้องเป็นหญ้าที่ปลอดสารพิษ
ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รณรงค์ให้เกษตรกรบริเวณใกล้เคียงไม่ให้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช โดยให้บริการตัดหญ้าตามคันดินบริเวณขอบบ่อปลาของเกษตรกร ในพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง ให้กับเกษตรกรฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชตามขอบบ่อปลา ส่วนฟาร์มกระบือได้หญ้ามาเลี้ยงกระบือตลอดทั้งปี สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4444 ต่อ 2271 ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
*****************************************
ข้อมูล : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม