วันอาทิตย์ ที่ 30 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีส่งมอบวัคซีน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน ล็อตแรก 60,000 โด๊ส เพื่อควบคุม ป้องกันการระบาดของโรคลัมปีสกิน และช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมด้วยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ โดยมีนายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงาน นายสุรเดช  สมิเปรม นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ  กระจ่างวงษ์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์  โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ 3 ท่าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้การต้อนรับ ณ บริเวณด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ   

           ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ระบาดในพื้นที่หลายจังหวัด มีสัตว์ป่วยรวม 10,023 ตัวและตาย 93 ตัวนั้น พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีความห่วงใยและกำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรค ทั้งได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเกษตรกรโดยพ่นยาฆ่าเชื้อ พ่นสารกำจัดแมลง ให้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน ซึ่งการใช้วัคซีนควบคุมโรค เป็น 1 ใน 5 มาตรการที่สำคัญของการควบคุมการระบาดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการ โดยมอบหมายให้กรมปศุสัตว์จัดหาและสั่งซื้อวัคซีน LSDV จำนวน 60,000 โด๊ส จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อนำมาสู่การรับมอบในวันนี้ เพื่อนำไปฉีดให้กับโค-กระบือของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นหลัก และจะดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกจำนวน 300,000 โดส เพื่อให้เพียงพอ และสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย

          ด้าน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์ของโรคลัมปี สกินอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันได้ข้อสรุปของโรคแล้ว จึงขอรับรองว่าโรคดังกล่าวสามารถรักษาหาย เนื้อทานได้ และไม่ติดต่อถึงคน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางมาตรการป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกินแล้ว ขอให้เกษตรกรอย่าวิตกกังวล ให้ติดตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เป็นหลัก โดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะลงพื้นที่เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรต่อไป

          ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ระบาดในพื้นที่หลายจังหวัด สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือเป็นจำนวนมากนั้น กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดใน 5 มาตรการ คือ 1) ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายอย่างเคร่งครัด โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการปิดด่านตามแนวชายแดน เช่น ด่านชายแดนพม่า พร้อมตรวจตราการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างเข้มงวด และเข้มข้น 2) เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว 3) ป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรคให้เกษตรกรป้องกัน โดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง ด้วยการประสานด่านกักกันสัตว์ อบจ. อบต. ลงพื้นที่พ่นยาฆ่าแมลง และแจกยาฆ่าแมลง รวมถึงให้คำแนะนำการป้องกัน  4) รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตามอาการ โดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1สัตว์ป่วยแสดงอาการมีไข้ ให้ดำเนินการให้ยาลดไข้ ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนัง ให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดี และ 5) การใช้วัคซีนควบคุมโรค ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้รับวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน ที่ได้สั่งซื้อ จำนวน 60,000 โด๊ส ในวันนี้ และจะดำเนินการใช้วัคซีนเพื่อควบคุมโรคตามหลักวิชาการ จึงได้จัดพิธีรับมอบวัคซีน พร้อมเวชภัณฑ์ยาและหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ณ บริเวณด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

          “หากประชาชน เกษตรกร มีข้อสงสัยหรือต้องการรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา และสามารถติดตามสถานการณ์การระบาดและศึกษาองค์ความรู้
ที่เกี่ยวข้องกับโรคลัมปี สกิน ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักควบคุม ป้องกันแบะบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ www.sites.google.com/view/dldlsd/home.com อธิบดีกรมปศุสัตว์” กล่าว

---------------------------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์     
ข่าว : น.ส.วรรณกร  ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ