สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงวิกฤติอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรเป็นอย่างมาก กรมปศุสัตว์ จึงเข้าให้ความช่วยเหลือสินค้าเกษตรที่สำคัญ ด้านปศุสัตว์ ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยจำแนกตามชนิดของสัตว์ ประกอบด้วย โคเนื้อ โคนม สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่

          โคเนื้อ ภาพรวมการผลิตภายในประเทศ มีเกษตรกร 1.1 ล้านราย เลี้ยงโคเนื้อ 7.3 ล้านตัว มีปริมาณการผลิตในปี 2564 จำนวน 2.1019 แสนตันต่อปี ซึ่งผลผลิตระหว่างเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2564 มีปริมาณ 2.97 หมื่นตัน โดยแหล่งผลิตใหญ่อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ซึ่งไม่นานมานี้มีการระบาดของโรคลัมปี สกิน เข้ามาซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร กรมปศุสัตว์ จึงมีมาตรการแก้ไขการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคเนื้อ ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยกรมปศุสัตว์ประสาน ธ.ก.ส. ขอขยายเวลาการชำระหนี้ เสนอขอปรับแผนการชำระหนี้ไปยังกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากลัมปี สกิน และส่งเสริมการประกอบอาชีพปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากลัมปี สกิน กลางน้ำ จะมีพ่อค้าเข้าไปซื้อโคเนื้อโดยตรงที่ฟาร์มของเกษตรกร ส่วนปลายน้ำ ผู้ขายปรับเปลี่ยนวีการจำหน่ายเป็นออนไลน์มากขึ้น

          โคนม ภาพรวมการผลิตภายในประเทศ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 24,329 ราย มีปริมาณการผลิตน้ำนม จำนวน 1.308 ล้านตันต่อปี ซึ่งปี 2564 มีผลผลิตระหว่างเดือนมกราคม ถึงมิถุนายน จำนวน 6.5449 แสนตัน ซึ่งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนั้น ต้นน้ำ กรมปศุสัตว์ได้ประสาน ธ.ก.ส. ขอขยายเวลาการชำระหนี้ ปรับโครงสร้างการผลิตและส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับโคนม ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตน้ำนมโคที่มีคุณภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต กลางน้ำ จะมีโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมฯ ให้กับนักเรียนปฐมวัยและระดับประถมศึกษา ปลายน้ำ กรมปศุสัตว์ยังเสนอโครงการให้กับนักเรียนดื่มนม 365 วัน และขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

          สุกร ภาพรวมการผลิตภายในประเทศ มีปริมาณการผลิต จำนวน 1.6995 ล้านตันต่อปี ซึ่งปี 2564 มีผลผลิตระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน จำนวน 8.7251 แสนตัน ซึ่งมาตรการที่กรมปศุสัตว์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ในส่วนของต้นน้ำ คือ จัดสรรงบประมาณเป็นสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า กลางน้ำ มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 แพร่กระจายเข้าสู่สถานที่ผลิตอาหาร ใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมการระบาด และรณรงค์ให้โรงงานฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน

          ไก่เนื้อ ภาพรวมการผลิตในประเทศ มีเกษตรกรทั้งหมด 36,824 ราย มีปริมาณการผลิตไก่เนื้อจำนวน 2.946 ล้านตันต่อปี ปี 2564 มีผลผลิตระหว่างเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน จำนวน 7.5232 แสนตัน ซึ่งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ต้นน้ำ ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีมาตรการปลดพ่อแม่พันธุ์ไก่เนื้อ เพื่อลดกำลังการผลิตไก่เนื้อ และลดปริมาณไก่สะสมในโรงฆ่าสัตว์ กลางน้ำ มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 แพร่กระจายเข้าสู่สถานที่ผลิตอาหาร ใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมการระบาด และรณรงค์ให้โรงงานฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน

          ไก่ไข่ ภาพรวมการผลิตในประเทศ มีปริมาณการผลิตไข่ไก่ จำนวน 15,147 ล้านฟองต่อปี ในปี 2564 มีผลผลิตระหว่างเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน จำนวน 3,804.06 ล้านฟอง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ต้นน้ำ โดยยืดอายุการเลี้ยงไก่ไข่ยืนกรง จากเดิม 78 สัปดาห์ เป็น 85 – 90 สัปดาห์ กลางน้ำ มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 แพร่กระจายเข้าสู่สถานที่ผลิตอาหาร ใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมการระบาด และรณรงค์ให้โรงงานฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน

          มาตรการต่างๆ ที่กรมปศุสัตว์ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับสินค้าเกษตรที่สำคัญ ด้านปศุสัตว์ ในสภาวะวิกฤติโควิด-19 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะพ้นวิกฤตินี้ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอีกหลากหลาย ทั้งโรคระบาดสัตว์ และภัยพิบัติต่างๆ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

 

ข้อมูล : รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ครั้งที่ 6/2564

เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ