นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ของสินค้าปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมี นายพิจิตร บุญทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายนิกร ทองจิตร นายอำเภอปทุมราชวงศา นายธานินทร์ จุฑาทิพย์ชาติกุล ปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญ และประธานแปลงใหญ่แพะ ให้การต้อนรับ ในวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2564 ณ กลุ่มแปลงใหญ่แพะ หมู่ 7 ตำบลนาป่าแซง อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ

          นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงสร้างภาคการเกษตรของไทย เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรขนาดเล็ก และเป็นการผลิตที่มีลักษณะต่างคนต่างทำ การดำเนินการลักษณะดังกล่าว ทำให้ภาคเกษตรต้องเผชิญกับปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร เช่น ปัญหาด้านต้นทุนการผลิต ได้แก่ ค่าพันธุ์ ค่าปัจจัยการผลิตต่างๆ ค่าใช้จ่ายของเครื่องจักรกล การเกษตร และค่าจ้างแรงงานด้านการเกษตร รวมทั้ง ปัญหาการขาดอำนาจการต่อรองของเกษตรกร ตลอดกระบวนการผลิต (Production Process) การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และปัญหาด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ที่ยังไม่เข้าถึงตัวเกษตรกรได้เท่าที่ควร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจต้องดูแลคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตร และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร จึงได้กำหนดระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน ให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน

          นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จังหวัดอำนาจเจริญ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการทำนา เป็นอาชีพหลัก และปลูกพืชไร่-ไม้ผล ไม้ยืนต้น ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมการเลี้ยงแพะ เป็นอีกทางเลือกที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และมีการเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเลี้ยงแพะ เป็นการเลี้ยงที่ง่ายต่อการจัดการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ใช้ระยะเวลาไม่นานในการเลี้ยง การให้ผลตอบแทนเป็นเนื้อเพื่อจำหน่ายที่มีความคุ้มค่า รวมถึงตลาดมีความต้องการทั้ง ภายในประเทศและต่างประเทศ แพะจึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกตัวที่น่าสนใจของเกษตรกร ในจังหวัดอำนาจเจริญ

          ด้าน นายธานินทร์ จุฑาทิพย์ชาติกุล ปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวเสริมว่า การเลี้ยงแพะในเขตพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ คือ ปล่อยเลี้ยงตามทุ่งนา และมีการผสมพันธุ์โดยใช้พ่อพันธุ์ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน อาหารสัตว์ เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล พอถึงฤดูฝนก็มีหญ้าสดให้กินแต่พอถึงฤดูแล้งก็ขาดแคลนอาหารที่มีคุณภาพ ดีที่สุดก็คือ ฟางแห้ง จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ การผลิต อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ การเพิ่มความรู้การเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพ และการดูแลรักษาสุขภาพของสัตว์ที่ถูกต้อง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ด้านการดูแลรักษา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้เข้ามาดูแลเกษตรกร และให้ความรู้ ในการเลี้ยงแพะให้ถูกวิธี อาหารที่ใช้เลี้ยง การป้องกันรักษาโรคที่เกี่ยวกับแพะ พร้อมทั้ง สภาพภูมิประเทศของจังหวัดเหมาะสำหรับการเลี้ยงสัตว์ และแพะถือว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกทางเลือกหนึ่งที่ยังมีความต้องการของตลาดสูง และมีความต้องการจากประเทศเวียดนามและสปป.ลาว ที่มีพื้นที่ไม่ห่างจากจังหวัดอำนาจเจริญมากนัก ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เป็นแหล่งรวบรวมแพะเพื่อส่งออกทำให้ลดต้นทุนในการขนส่ง เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร โดยมีหลักการ คือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาทิ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด

          ทั้งนี้ โครงการยกระดับแปลงใหญ่แพะ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแพะให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องต่อความต้องการของตลาด ประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน คือเกษตรกรจะได้รับความสามารถในการบริหารจัดการเทคโนโลยี รายได้เพิ่ม และมั่นคง มีตลาดสินค้าเกษตรที่แน่นอน ภาครัฐจะได้รับ การบริหารงาน เงิน คน มีประสิทธิภาพ เกิดสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน ความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร ส่วนภาคเอกชน มีแหล่งซื้อ สินค้าที่แน่นอนทั้งปริมาณและคุณภาพ

*********************************

ข้อมูล : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญ , กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์                  

ข่าว : น.ส.สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ