วันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิด การฝึกอบรมหลักสูตรสัตวแพทย์ผู้ควบคุมระบบการใช้ยาผสมอาหารสัตว์ในฟาร์ม เพื่อให้สัตวแพทย์มีความรู้และสามารถสั่งใช้ยาผสมอาหารสัตว์ได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับกฎหมายอาหารสัตว์ที่กำกับดูแลสัตวแพทย์ ที่ควบคุมระบบการผลิตอาหารสัตว์ที่มียา เพื่อให้อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในภาคปศุสัตว์ โดยมีนายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยสัตวแพทย์ภาคเอกชนรุ่นที่ 1 เข้าร่วมอบรมจำนวน 50 คน โดยได้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ณ โรงแรม ทินิดี โฮเท็ล แอท บางกอก กอล์ฟ คลับ จังหวัดปทุมธานี

          นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่กรมปศุสัตว์และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในภาคปศุสัตว์ แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ในความมุ่งมั่นตั้งใจที่กรมปศุสัตว์ได้ร่วมดำเนินการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการลดการใช้ยาต้านจุลชีพและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในปศุสัตว์ (Prudent use) ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ ในการกำกับดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตตามหลักอาหารปลอดภัย (Food Safety) และหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) ซึ่งการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาในฟาร์มที่มีสัตวแพทย์เป็นผู้ควบคุมระบบการผลิต จำเป็นต้องมีความรู้และกำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนดและสอดคล้องกับหลักมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญในการลดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยหลังจากการฝึกอบรม สัตวแพทย์ทุกท่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยา รวมทั้งการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ได้อย่างถูกต้อง สามารถปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอาหารสัตว์ที่ผสมยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

          “การให้ยาสัตว์เพื่อป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษาสัตว์มีหลายวิธี เช่น ให้ยาป้อนทีละตัว ให้ยาฉีดตรงเข้าตัวสัตว์ทีละตัว ให้ยาผสมน้ำให้สัตว์กิน ให้ยาพ่นในอากาศให้สัตว์สูดดม หรือให้ยาผสมอาหารสัตว์ ซึ่งการให้ยาผสมอาหารสัตว์ สัตว์จะได้รับยาตามปริมาณที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีอื่น ถือเป็นทางเลือกที่นิยมมากในการเลี้ยงสัตว์ กรมปศุสัตว์จึงได้จัดฝึกอบรมให้แก่สัตวแพทย์ผู้ควบคุมการใช้ยาผสมอาหารสัตว์ในฟาร์ม เพื่อให้การควบคุม การผลิต และใช้อาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของยา และการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมคุณภาพการผลิตอาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของยาต้านจุลชีพ เป็นไปตามกฎระเบียบ และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่นำมาใช้ในห่วงโซ่อาหาร - อาหารสัตว์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งระบบ ตั้งแต่ฟาร์มโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ จนถึงโต๊ะอาหาร การจัดโครงการดังกล่าวนี้จึงตอบโจทย์ ในการแก้ไขปัญหาของระบบ food safety เป็นอย่างดี” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

---------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล : กองควบคุมอาหารและยาสัตว์                                    ข่าว : น.ส.วรรณกร  ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ