วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 11.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการ “เกษตรกรช่วยประชาชน ลดค่าครองชีพ” เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ได้บริโภคเนื้อหมูคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ราคาถูกกว่าท้องตลาด และได้มาตรฐานปศุสัตว์ OK ในระหว่างวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายปณิธาน มีไชยโย รักษาการผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม ณ ตลาดริมน้ำ อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาหมูแพง ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกกลุ่ม ตั้งแต่ภาคการเกษตร ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูป ตลอดจนประชาชนทั่วไป ที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อหมูที่มีมากขึ้นนั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้จัดโครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ได้บริโภคเนื้อหมูคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ราคาถูกกว่าท้องตลาด และได้มาตรฐานปศุสัตว์ OK เพียงกิโลกรัมละ 140 บาทราคาเดียว เป็นจำนวน 150,000 กิโลกรัม กำหนดซื้อได้ท่านละไม่เกิน 5 กิโลกรัม ในระหว่างวันที่ 12 - 19 กุมภาพันธ์ 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. หรือจนกว่าสินค้าจะหมด ณ ลานกิจกรรม ตลาดริมน้ำ อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน กรุงเทพฯ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนได้ออกมาจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อเนื้อหมูที่ได้มาตรฐานปศุสัตว์ OK ในช่วงวันและเวลาดังกล่าว และเพื่อเป็นการรองรับผู้มาใช้บริการตลาดเป็นจำนวนมาก ทาง อ.ต.ก. ได้ดำเนินมาตรการควบคุมการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดยยึดตามประกาศของทางภาครัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษามาตรฐานของตลาดสดน่าซื้อ และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดภายในพื้นที่
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สินค้าเนื้อสุกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้รวม 150 ตัน (150,000 กิโลกรัม) โดยเนื้อสัตว์ที่นำมาจำหน่ายได้ผ่านการรับรองจากโครงการปศุสัตว์ OK ซึ่งเป็นสินค้าปศุสัตว์ที่มีความปลอดภัยต่อการบริโภค มาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GAP โรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย มีการเข้มงวดตรวจสอบคัดกรองสุขภาพสัตว์ก่อนฆ่า (Ante-mortem inspection) และหลังฆ่า (Post-mortem inspection) ไม่ให้มีสัตว์ป่วยหรือโรคระบาดอื่นๆ เข้าผลิตและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นการควบคุมการระบาดของโรคที่สำคัญอีกจุดหนึ่งด้วย นอกจากนี้สถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ต้องถูกสุขอนามัยได้มาตรฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด และที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ดังสโลแกนที่ว่า “เนื้อสัตว์ปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เลือกซื้อเนื้อสัตว์ครั้งใด มองหาสัญญาลักษณ์ปศุสัตว์ OK”
ข่าว : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมปศุสัตว์