กรมปศุสัตว์สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ เรื่อง ความปลอดภัยด้านอาหาร ด้วยการออกกฎหมาย “ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้าในหรือผ่านเขตควบคุมโรคระบาดชนิดปากและเท้าเปื่อยในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ.2559”
กรมปศุสัตว์สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ เรื่อง ความปลอดภัยด้านอาหารด้วยการออกกฎหมาย “ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้าในหรือผ่านเขตควบคุมโรคระบาดชนิดปากและเท้าเปื่อยในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ.2559” ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในสังกัดบังคับใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้าในหรือผ่านเขตควบคุมโรคระบาดชนิดปากและเท้าเปื่อยในภาคใต้ของประเทศไทย เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อันจะส่งผลให้การป้องกันและควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพการตรวจสอบอาการของสัตว์จำพวกโค กระบือ แพะ แกะ สุกร หมูป่า และกวาง รวมถึงการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ก่อนการเคลื่อนย้ายเข้าในหรือผ่านเขตควบคุมโรคระบาดชนิดปากและเท้าเปื่อยในภาคใต้ของประเทศไทย โดยระเบียบให้ถือปฏิบัติไว้ดังนี้
“ผู้ใดประสงค์จะเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในเขต หรือผ่านเขตควบคุมโรคระบาดชนิดปากและเท้าเปื่อย ให้ยื่นคำขอรับหนังสืออนุญาตต่อสัตวแพทย์ประจำท้องที่ที่สัตว์หรือซากสัตว์ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่นั้น โดยสามารถยื่นคำขอได้ 2 ทาง คือ ยืนคำขอผ่านทางระบบออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ของกรมปศุสัตว์ หรือ ติดต่อโดยตรงที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดท้องที่ที่สัตว์หรือซากสัตว์อยู่ในพื้นที่นั้น เพื่อขอรับบริการยื่นคำขอผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งสัตวแพทย์ประจำท้องที่จะพิจารณาตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์หรือซากสัตว์อย่างละเอียด โดยจะต้องไม่เป็นสัตว์หรือซากสัตว์ที่มาจากท้องที่ที่มีการระบาดของโรคระบาด หรือมีความเสี่ยงของโรคระบาด และให้มีการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ประกาศกำหนด”
ทั้งนี้หากตรวจพบว่าสัตว์หรือซากสัตว์เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นโรคระบาดให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางรายงานปศุสัตว์จังหวัดต้นทาง หรือหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ หรือหัวหน้าส่วนราชการอื่นแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งรายงานปศุสัตว์จังหวัดปลายทาง รวมถึงปศุสัตว์เขตท้องที่ต้นทางและปลายทางโดยด่วนที่สุดด้วย และดำเนินการควบคุมโรคตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด
หากตรวจไม่พบสัตว์หรือซากสัตว์ หรือไม่ครบถ้วนหรือเกิดจำนวนตามที่ระบุไว้ให้สอบสวนสาเหตุ และพิจารณาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป ส่วนในกรณีสัตว์ที่เคลื่อนย้ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปเลี้ยง ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทาง กักกันสัตว์ไว้เป็นเอกเทศในสถานที่กักกันสัตว์ปลายทางที่ปศุสัตว์จังหวัดปลายทางรับรองเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ดำเนินการประกาศเรื่องดังกล่าวแล้วในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 126 ง วันที่ 2 มิถุนายน 2559 เรื่อง ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้าในหรือผ่านเขตควบคุมโรคระบาดชนิดปากและเท้าเปื่อยในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ.2559 หากท่านต้องการทราบรายละเอียดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้
**************************************************************
ข้อมูล : สำนักกฎหมาย
เรียบเรียงและเผยแพร่และประชาสัมพันธ์โดย : จิราภรณ์ เกตุบูรณะ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม