หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นหญ้าลูกผสม ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างหญ้าเนเปียร์ยักษ์และหญ้าไข่มุก เป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีศักยภาพสูงทั้งในแง่การให้ผลผลิต และมีคุณค่าทางอาหารสัตว์ดีตามที่สัตว์ต้องการ เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาทิ โคนม โคเนื้อ แพะ แกะ ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้สนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศไทย หญ้าเนเปียร์มีอายุข้ามปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูง 2.5 – 3.5 เมตร เมื่อออกดอกจะมีความสูงถึงปลายช่อดอก 3.5 – 4.5 เมตร ให้ผลผลิตน้ำหนักสด 8 – 10 ตัน/ไร่/รอบการตัดทุก 60 วัน (ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2 – 2.5 ตัน/ไร่/รอบการตัด) มีโปรตีน 13 – 17 %
หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 มีลักษณะเด่น คือ โตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง โปรตีนสูง มีความน่ากิน สัตว์ชอบกิน ตอบสนองต่อการให้น้ำและปุ๋ยดี แตกกอดี ออกดอกช้า ทนแล้ง ในฤดูหนาวเติบโตได้ดีไม่ชะงัก ไม่มีระยะพักตัว ระยะออกดอกสั้น ไม่ติดเมล็ด ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ใบและลำต้นอ่อนนุ่ม มีขนที่บริเวณใบหรือลำต้นน้อยกว่าหญ้าเนเปียร์สายพันธุ์อื่น มีปริมาณน้ำตาลในใบและลำต้นสูง ทำเป็นหญ้าหมักโดยไม่ต้องเติมสารเสริมใดๆ ปรับตัวได้ดีในดินหลายสภาพ ไม่มีโรคและแมลงรบกวน เก็บเกี่ยวง่าย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้นาน 6 – 7 ปี เหมาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด ลักษณะทั่วไป เป็นพันธุ์หญ้าอาหารสัตว์ที่มีอายุหลายปี ทรงต้นเป็นกอตั้งตรง แตกกอดี มีระบบรากแข็งแรงแผ่กระจายอยู่ในดินทำให้สามารถดูดซึมน้ำและปุ๋ยได้ดี ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ ให้ผลผลิตสูง สัตว์ชอบกิน มีคุณค่าทางอาหารสูง โปรตีนหยาบประมาณ 10 - 12 % ที่อายุการตัด 60 วัน และทำหญ้าหมักได้ดี ขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ เป็นหญ้าที่ไม่ติดเมล็ด จึงไม่เสี่ยงต่อการเป็นวัชพืช
การปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ช่วงเวลาในการปลูกในเขตชลประทานสามารถปลูกได้ตลอดปี ส่วนในพื้นที่อาศัยน้ำฝนควรปลูกช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกรกฎาคม เพื่อให้หญ้าเจริญเติบโตได้ดี และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายครั้ง การเตรียมดิน โดยไถกำจัดวัชพืช 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 2,000 กก./ไร่ หรือใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ รองพื้น จากนั้นไถกลบอีกครั้ง การเตรียมท่อนพันธุ์และการปลูก ใช้ต้นพันธุ์อายุประมาณ 90 วัน นำต้นพันธุ์มาตัดเป็นท่อนๆ ให้มีข้อติดอยู่ไม่น้อยกว่า ท่อนละ 2 ข้อ ระยะปลูกระหว่างแถว 1.20 เมตร ระยะระหว่างต้น 1 เมตร ใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 200 – 250 กก./ไร่
การใส่ปุ๋ย สูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 50 กก./ไร่เป็นปุ๋ยรองพื้น และควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 20 กก./ไร่ หลังการตัดหญ้าแต่ละครั้ง
การให้น้ำหญ้าเนเปียร์ฯ ตอบสนองต่อการให้น้ำได้ดี ถ้าหากฝนทิ้งช่วงควรมีการให้น้ำ หากเป็นแบบพ่นฝอยควรให้ทุก 3 – 5 วัน แต่ถ้าเป็นแบบสูบราดควรปล่อยน้ำเข้าแปลง ทุกๆ 7 – 10 วัน จะสามารถผลิตหญ้าสดได้ตลอดทั้งปี การกำจัดวัชพืชหลังการปลูก 2 – 3 สัปดาห์ จากนั้นควรกำจัดวัชพืชหลังการตัดทุกครั้ง
การเก็บเกี่ยวและการใช้ประโยชน์ การเก็บต้องตัดให้ชิดดินที่สุด เพื่อให้แตกหน่อใหม่จากใต้ดิน จะตั้งตัวได้เร็วและมีขนาดโตอวบอ้วน การตัดหญ้าทุกครั้งควรใส่ปุ๋ยคอกลงไปที่โคนกอแล้วรีบให้น้ำทันที ส่วนปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 ให้ใส่หลังแตกหน่อใหม่ ประมาณ 2 สัปดาห์ หยอดปุ๋ยลงไปที่โคนกอเพื่อหญ้าแตกกอมาก ขนาดลำต้นใหญ่อวบ ใบดกเขียวเข้มงาม ทำให้ผลผลิตสูง หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 สามารถเก็บเกี่ยวหญ้าครั้งแรกเมื่ออายุ 75 วัน จากนั้นตัดใช้ประโยชน์ได้ทุกๆ 45 – 60 วัน ช่วงฤดูฝนหญ้าโตเร็วอาจตัดอายุน้อยกว่า 30 วัน
การปลูกหญ้าในพื้นที่ชลประทาน หรือให้น้ำโดยใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงงานอุตสาหกรรม จะสามารถผลิตหญ้าสดได้ตลอดปี ตัดเกี่ยวหญ้าได้ 5 – 6 ครั้ง/ปี ได้หญ้าสดประมาณ 8 – 10 ตัน/ไร่/ครั้ง หรือคิดเป็น 40 – 60 ตัน/ไร่/ปี ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงโค 5 – 6 ตัว สามารถลดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เหมาะสำหรับผู้มีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์น้อยแต่มีจำนวนสัตว์มาก
คุณภาพทางอาหารสัตว์ หญ้าอายุ 60 วันมีโปรตีนเฉลี่ย 10.6 % เยื่อใยรวม 42.6 % และมีคาร์โบไฮเดรตละลายได้ 33.3 % เป็นพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี มีคุณค่าอาหารสัตว์สูง เหมาะสำหรับ การใช้เลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง เช่น โคนม และสามารถนำไปผลิตเป็นพืชหมักได้ดี เนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรตละลายได้สูง หากต้องการทำหญ้าหมักเก็บถนอมไว้เลี้ยงสัตว์ โดยตัดหญ้าอายุ 60 วัน หั่นเป็นชิ้น ขนาดชิ้นละ 1 – 3 ซม. บรรจุลงภาชนะอัดให้แน่น ดูดอากาศออกปิดภาชนะให้สนิท เก็บในที่ร่มประมาณ 21 วันขึ้นไป จึงทยอยนำมาใช้ยามขาดแคลน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท โทร. 0 – 5640 - 5056
*******************************************************
ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม