หญ้าหมัก หมายถึง พืชอาหารสัตว์ต่างๆ ที่เก็บรักษาไว้ในสภาพความชื้นสูงในที่ไม่มีอากาศ ซึ่งการเก็บถนอมในลักษณะนี้สามารถอยู่ได้เป็นเวลานาน โดยส่วนประกอบต่างๆ และคุณค่าอาหารไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับไว้ใช้เป็นอาหารสัตว์ในช่วงขาดแคลนหญ้าสด ประเภทของหญ้าหมัก แบ่งตามวิธีการทำ “หญ้าหมักสด” คือ หญ้าหมักที่ได้จากการใช้พืชสด มีความชื้นสูงจากการตัดโดยตรงแล้วนำมาหมัก “หญ้าหมักแห้ง” คือ หญ้าหมักที่ได้จากการใช้พืชสดนำมาผึ่งแดดระยะสั้น เพื่อไล่ความชื้นออกให้เหลือประมาณ 25 – 55 % แล้วจึงนำมาบรรจุลงภาชนะหมัก และต้องสับให้สั้นเพื่อให้การอัดแน่นได้ดี เนื่องจากความชื้นต่ำหญ้าหมักชนิดนี้ต้องเก็บในภาชนะบรรจุอย่างดีเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้าได้
ปัจจัยที่ควบคุมคุณภาพของหญ้าหมัก ชนิดของพืชที่เหมาะสมในการทำหญ้าหมัก ควรเลือกพืชที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลสูงมากกว่า 6 % เพื่อเป็นอาหารจุลินทรีย์ที่เกิดระหว่างกระบวนการหมัก ลักษณะของต้นพืชควรมีลำต้นเพื่อลดช่องอากาศภายในให้น้อยที่สุด เช่น ข้าวโพด หญ้ารูซี่ หญ้าเนเปียร์ หรือพืชตระกูลถั่ว เวลาในการตัดพืชมาทำหญ้าหมักอายุของพืชควรอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิตสูง คุณค่าทางอาหารเพียงพอ ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป เช่น ข้าวโพด ควรตัดในระยะเมล็ดกำลังเป็นน้ำนมและก่อนที่จะเริ่มแข็งตัว ถ้าเป็นข้าวฟ่าง ควรตัดเมื่อใกล้จะมีดอกอายุประมาณ 10 – 11 สัปดาห์จนถึงระยะติดเมล็ดอ่อนๆ สำหรับหญ้าอื่นๆ ควรตัดในระยะเริ่มออดดอก อายุของหญ้าที่จะตัดไม่แน่นอนควรสังเกตจากเปอร์เซ็นต์ของวัตถุแห้งต้องไม่ต่ำกว่า 25 % และไม่สูงกว่า 35 % ความยาวของท่อนพืช ควรตัดหรือสับให้เป็นชิ้นสั้นๆ ประมาณ 3 – 5 ซม. ช่วยให้อัดได้แน่นเป็นการไล่อากาศได้ง่าย ระดับความชื้นควรอยู่ระหว่าง 65 – 70 % ช่วยให้อัดแน่น ไล่อากาศได้ง่าย ไม่ทำให้เกิดเชื้อราในพืช หากพืชมีความชื้นสูงเกินไป ก่อนหมักให้ทำการตัดพืชแล้วผึ่งแดดไว้ในแปลงสัก 2 – 3 ชม. หรือใช้วัตถุดิบเสริมเพื่อดูดซับความชื้น อาทิ เมล็ดธัญพืชบด หญ้าแห้ง ฯลฯ สารช่วยหมัก เป็นสารเพื่อเพิ่มน้ำตาล ลดความชื้น ทำให้เกิดกรดแลคติกเร็วขึ้น และเพิ่มความน่ากิน เช่น กากน้ำตาล รำละเอียด เกลือ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำหญ้าหมัก อุปกรณ์สำหรับสับหญ้า ถุงดำหรือถุงพลาสติก หรือเท่าที่มีตามท้องถิ่น เพื่อบรรจุหญ้าสำหรับหมัก สารเสริมที่ทำให้การหมักดีขึ้น เช่น กากน้ำตาล 1 กก. เกลือ 500 กรัม เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพของหญ้าหมัก
ขั้นตอนการทำหญ้าหมัก สับหญ้าให้ละเอียดความยาวประมาณ 3 ซม. โรยเกลือหรือใส่กากน้ำตาลคลุกเคล้ากองหญ้าให้ทั่ว อัดพืชหมักลงในภาชนะ ถุงหมัก ถังหมัก หรือบ่อหมักให้แน่น ไล่อากาศออกให้ได้มากที่สุดแล้วปิดภาชนะบรรจุให้สนิท เก็บรักษาหญ้าหมักไว้ในที่เย็นหรือที่ร่ม ประมาณ 3 สัปดาห์หรือ 21 วัน เกิดการหมักเต็มที่สามารถนำมาเลี้ยงสัตว์ได้
ลักษณะที่ดีของหญ้าหมัก สีหญ้าหมักที่ดีควรมีสีเขียวแกมเหลือง หรือสีเหลือง ซึ่งถ้าหญ้าหมักเป็นสีดำไม่ควรนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ กลิ่นหอมคล้ายผัก ผลไม้ดอง เนื้อหญ้าหมักจะต้องไม่เป็นเมือก ไม่เละ ไม่มีราหรือส่วนเน่าบูด ความชื้นควรอยู่ระหว่าง 65 – 70 % ทดสอบโดยบีบหญ้าหมักด้วยมือ ถ้ามีน้ำเหลวๆไหลออกมาแสดงว่า มีความชื้นมากเกินไป อาจทำให้หญ้าหมักเสียได้ง่าย
ข้อดี-ข้อเสียของการทำหญ้าหมัก ข้อดี ทำได้ทุกฤดูกาล ใช้ทุกส่วนของต้นพืชให้เป็นประโยชน์ ใช้พื้นที่ในการเก็บรักษาน้อย ลดความเสี่ยงจากอัคคีภัย สามารถเก็บรักษาได้นาน ข้อเสีย เกษตรกรต้องมีความชำนาญมาก สิ้นเปลืองแรงงานและลงทุนมาก ขาดวิตามิน D เป็นราเสียง่ายเมื่อมีการเปิดใช้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท โทร. 0 – 5640 - 5056
*******************************************************
ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม