การบริโภคอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย โยเกิตต์ ชีสส์ มีความต้องการสูงมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของคนไทย และความทันสมัยของระบบข้อมูลข่าวสาร การบริโภคอาหารแบบประเทศตะวันตกและอาหารประเภทรวดเร็ว (Fast Food) เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ผลิตภัณฑ์จากนมส่วนใหญ่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางชนิดจะต้องทำจากนมสดเท่านั้น เช่น ชีสส์ประเภทต่างๆ ซึ่งชีสส์แต่ละชนิดก็จะมีวิธีการผลิตและวัตถุดิบน้ำนมที่ใช้แตกต่างกัน

          ประเทศไทยมีความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Mozzarella Cheese ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก Mozzarella Cheese เป็น soft cheese มีคุณสมบัติเหนียวข้นเมื่อถูกความร้อน สำหรับใช้ในการทำพิซซ่า จะต้องทำมาจากน้ำนมกระบือเท่านั้น จึงจะมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ ข้อดีของการใช้นมกระบือทำชีสส์ ก็คือนมกระบือจะมีโปรตีนสูงกว่านมโค สามารถจะผลิตชีสส์ได้ปริมาณมากกว่าการใช้นมโคในปริมาณที่เท่ากัน ทั้งนี้การผลิตชีสส์ 1 กก. จากนมโค ต้องใช้นมจำนวน 8 กก. แต่ใช้นมกระบือเพียง 5 กก. เท่านั้น ส่วนการผลิตเนย 1 กก. จะต้องใช้นมโคปริมาณ 14 กก. ในขณะที่ใช้นมกระบือเพียง 10 กก. เท่านั้น

          กลุ่มชนมุสลิมได้มีการนำกระบือนมมาเลี้ยงเพื่อผลิตนม โดยรีดนมบริโภคภายในกลุ่มกันเองเป็นเวลานานมาแล้ว จนกระทั่งปี 2521 กรมปศุสัตว์จึงได้มีการจัดซื้อกระบือนมพันธุ์มูร่าห์จากรัฐบาลประเทศอินเดีย เป็นเพศผู้ 10 ตัว และเพศเมีย 90 ตัว นำมาเลี้ยงที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง จังหวัดราชบุรี ขยายพันธุ์ทั้งพันธุ์แท้และผลิตกระบือลูกผสมมูร่าห์-พื้นเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมจากกระบือและผลิตเนื้อเพื่อบริโภคไปพร้อมกัน ซึ่งจากผลงานวิจัยที่ดำเนินการมา พบว่าการเลี้ยงกระบือนมในประเทศไทยสามารถเลี้ยงได้ดี กระบือลูกผสมโตเร็วและให้น้ำนมสูงกว่ากระบือพื้นเมือง การเลี้ยงกระบือนมที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในวงแคบ ผู้สนใจเลี้ยงจะเป็นกลุ่มชาวมุสลิมที่บริโภคนมกระบือเท่านั้น การส่งเสริมการเลี้ยงกระบือนมแก่เกษตรกรทั่วไปไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควร โดยเกษตรกรจะให้เหตุผลว่าการรีดนมกระบือค่อนข้างยากกว่ารีดนมโค แม่กระบือบางตัวจะต้องใช้ลูกกระตุ้นให้มีการปล่อยนมและไม่ค่อยเชื่อง ประกอบกับในสมัยก่อนการตลาดการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมจากกระบือไม่เป็นที่นิยม การผลิตกระบือนมจึงลดเป้าหมายลงและโครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระบือนมได้สิ้นสุดลงในปี 2538

          เมื่อปี 2539 ดร. วี คูเรียน อดีตประธานคณะกรรมการสภาพัฒนานมแห่งชาติอินเดีย (National Dairy Development Board; NDDB) ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดร.คูเรียน มีความประทับใจและชื่นชมในพระราชอัจฉริยภาพ ซึ่งทรงเห็นประโยชน์ของการพัฒนาด้านการบริโภคนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในระยะเจริญเติบโต และได้เห็นถึงความเป็นไปได้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนมของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลอินเดียมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาในด้านนี้ได้ จึงได้ทำหนังสือขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายกระบือนมพันธุ์เมซานี จำนวน 50 ตัว แด่พระองค์ท่าน พร้อมน้ำเชื้อแช่แข็งของกระบือเมซานี และมูร่าห์ ถวายอีกประเภทละ 500 โด๊ส กรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์บุรีรัมย์ นำมาเลี้ยงขยายพันธุ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญเติบโต คุณภาพของน้ำนม ผลิตภัณฑ์นม และความเป็นไปได้ในการผลิตขยายพันธุ์กระบือเมซานีพันธุ์แท้ ปัจจุบัน มีกระบือเมซานีพันธุ์แท้ รวมทั้งสิ้น 80 ตัว แยกเป็นพ่อพันธ์ 5 ตัว แม่พันธุ์ 47 ตัว เพศผู้ อายุตั้งแต่แรกเกิด – 2 ปี จำนวน 6 ตัว อายุตั้งแต่ 3 - 11 ปี จำนวน 6 ตัว เพศเมีย อายุตั้งแต่แรกเกิด – 2 ปี จำนวน 4 ตัว อายุตั้งแต่ 3 - 11 ปี จำนวน 12 ตัว

          ในปัจจุบัน ศักยภาพการผลิตนมจากกระบือของประเทศไทยมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากความต้องการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มมากขึ้น มีเกษตรกรให้ความสนใจที่จะเลี้ยงกระบือนมมากขึ้น โดยการขอซื้อพ่อพันธุ์กระบือนมไปผลิตกระบือลูกผสม เพื่อผลิตนม-เนื้อจำหน่ายเพื่อบริโภค ในประเทศไทยมีฟาร์มเกษตรกรรายใหญ่ที่เลี้ยงกระบือนมเป็นอาชีพหลักอยู่ 2 รายคือ ด.ต. สุชิน หังสเนตร เจ้าของหังสเนตรฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เลี้ยงพ่อพันธุ์กระบือนมมูร่าห์ เพื่อผลิตลูกผสมกับกระบือไทย จำหน่ายที่ฟาร์มส่งตลาดในรูปกระบือเนื้อมีชีวิต ขณะนี้มีกระบือทั้งหมดประมาณกว่า 400 ตัว ประกอบด้วย เพศผู้กว่า 150 ตัว เพศเมียมากกว่า 250 ตัว เลี้ยงอยู่บนเกาะเหนือเขื่อนวชิราลงกรณ์ และอีกฟาร์มคือ คุณรัญจวน เฮงตระกูลสิน เจ้าของมูร่าห์ฟาร์ม เนื้อที่ 400 ไร่ ก่อตั้งเมื่อปี 2546 ดำเนินธุรกิจกระบือนมแห่งแรก ตั้งอยู่ที่ อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันมีกระบือประมาณ 350 ตัว รีดนมประมาณ 60 ตัว ผลิตภัณฑ์ของฟาร์ม ได้แก่ นมพร้อมดื่ม โยเกิร์ต น้ำมันกีร์ เนยแข็งมอซซาเรลล่า เนยแข็งริคอตต้า สบู่ครีมน้ำนมมูร่าห์ วางขายที่ร้านมูร่าห์เฮ้าส์ ในหมู่บ้านสัมมากร ซอยรามคำแหง 112 ร้านเลมอนฟาร์ม ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์ เฉพาะนมพาสเจอไรซ์บรรจุขวด บริการสมาชิกใกล้ฟาร์มและที่กรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่เพียงพอกับความต้องการ

 

*********************************

 

ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์                                                              เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ