ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีโอกาสดีๆ มีโอกาสในหลายด้าน ซึ่งนอกจากเรื่องสาธารณสุขที่ไม่เป็นรองใคร อีกเรื่องที่น่าสนใจมากคือการเป็น “ครัวของโลก” เพราะในแต่ละปีเราส่งออกสินค้าเกษตรทำรายได้เข้าประเทศนับหลายหมื่นล้านบาท หรือแม้แต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา “สินค้าปศุสัตว์” จากบ้านเราก็สามารถก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในอาเซียนจากการส่งออกและเป็นลำดับที่ 4 ของโลก ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล โดยเบื้องหลังความสำเร็จนี้ คือการทำงานของกรมปศุสัตว์ร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย ผลสำเร็จที่ชัดเจนคือ ประเทศไทยส่งออกสินค้าปศุสัตว์ปีหนึ่งกว่า 2 แสนกว่าล้าน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี มีทั้งที่เป็นสินค้าปศุสัตว์และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่งออกสินค้าไก่เนื้อตอนนี้ เราเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากยุโรป อเมริกา และจีน จากความเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ที่ได้การรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ว่ามีคุณภาพได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบแหล่งที่มา สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการกำกับดูแลสินค้าปศุสัตว์ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการส่งเสริมการผลิตสินค้าปศุสัตว์ โดยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค เพื่อผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมั่นใจในที่มาของสินค้าปศุสัตว์ ตั้งแต่แหล่งผลิตต้นทางถึงผลิตภัณฑ์พร้อมที่จะบริโภค เริ่มตั้งแต่ปัจจัยการผลิต โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงแปรรูป และสถานที่จำหน่าย ทั้งในตลาดสด ร้าน Modern trade และ Shop จนถึงมือผู้บริโภค ให้มีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร From Farm to Table โดยการควบคุม กำกับดูแล มีการตรวจสอบย้อนกลับที่จะช่วยลดผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น และให้การรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพ ในแต่ละขั้นตอนมีการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และมีกฎหมายและระเบียบที่บังคับใช้ชัดเจน มีการทำโครงการด้านความปลอดภัยอาหารเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศมากมาย ได้แก่ 1) โครงการปศุสัตว์ OK ที่รับรองสินค้าเนื้อสัตว์และไข่ (เลือกซื้อสินค้าปลอดภัย เลือกซื้อสินค้าภายใต้สัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”) 2) โครงการมาตรฐาน "Q" ที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านทุกขั้นตอนที่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยง โรงฆ่า และสถานที่จำหน่าย 3) โครงการเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบผลิตสินค้าปศุสัตว์ เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงปศุสัตว์ มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการมาก สามารถลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้ โดยที่อัตราการสูญเสียการผลิตไม่แตกต่างจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในสินค้าปศุสัตว์ ผู้บริโภคมีช่องทางการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งปัจจุบันมีสถานที่จำหน่ายมากกว่า 100 แห่ง และ 4) โครงการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มสุกรและโคขุน มีการใช้ ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Lab) ในการตรวจวิเคราะห์หาสารเร่งเนื้อแดงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถปฏิบัติงานเคลื่อนที่ได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้กรมปศุสัตว์มี New Normal เช่น มีระบบ New E-movement การออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนกว่า 150,000 ราย และมีการออกใบอนุญาตผ่านระบบกว่า 600,000 ครั้ง และระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ NSW ในการขออนุญาตนำเข้าผลิต-ขายอาหารสัตว์ วัตถุอันตรายด้านปศุสัตว์ รวมทั้งการยื่นขอรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์ผ่านทางออนไลน์
เป้าหมายต่อไป กรมปศุสัตว์จะขยายการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของประเทศให้มากขึ้น สร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น รักษาระบบการสร้างมาตรฐานคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าปศุสัตว์ทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง และมุ่งพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนและการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับการให้บริการประชาชนต่อไป
ข้อมูล : กรมปศุสัตว์
เรียบเรียงโดย : สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ