ปัจจุบันระบบการเกษตรของโลกอยู่ในช่วงรอยต่อที่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรเชิงเดี่ยว (เกษตรเคมี) มาสู่การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากวิกฤติโลกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรสนิยมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อสุขภาพ และการเลือกซื้ออาหารที่มีมาตรฐาน อาหารปลอดภัย การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐาน ThaiGAP, GLOBALGAP, GMP, HACCP, ISO 14001, ORGANIC FOOD เป็นต้น ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวให้ทันต่อตามความต้องการของผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้เกิดสินค้าจากธรรมชาติ และสินค้าอินทรีย์ ขึ้นมากมาย ซึ่งผู้คนมักจะสับสนกับการติดฉลากสินค้า คำว่า “ธรรมชาติ” และ “อินทรีย์” หลายคนเข้าใจว่ามีความหมายเหมือนกัน เราจึงควรทำความเข้าใจกับทั้งสองคำนี้
ผลผลิตอินทรีย์ (Organic Produce) มีความหมายเป็นสากล มีกฎระเบียบรองรับชัดเจน และมีระบบการตรวจรับรองที่อำนวยความสะดวกทางการค้า และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สามารถใช้ติดฉลากสินค้าได้ ซึ่งจะเป็นระบบการผลิตที่ไม่เพียงแต่ไม่ใช้ยาเคมีสังเคราะห์เท่านั้น แต่เป็นระบบการผลิตที่มีหลักปรัชญาเป็นองค์รวมของสุขภาพสิ่งแวดล้อม สังคมและจริยธรรมต่อสรรพสิ่ง โดยต้องเลี้ยงสัตว์อย่างเอาใจใส่ ป้องกันการเกิดโรค ด้วยการส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพดี ลดความเครียด ไม่กักขังสัตว์ตลอดเวลา ปล่อยตามพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิด มีโรงเรือนที่ไม่หนาแน่น ระบายอากาศได้ดี ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนสังเคราะห์ สารเร่งการเจริญเติบโต ร่วมกับการให้อาหารสัตว์อินทรีย์ ปลอดจากการใช้วัตถุดิบที่มาจากกระบวนการตัดต่อพันธุกรรม และการจัดการใช้มูลสัตว์เกื้อกูลกับการปลูกพืช เป็นต้น
ผลผลิตธรรมชาติ (Natural Produce) จะมีความหมายกว้าง และไม่มีกฎระเบียบที่เป็นคำนิยามชัดเจนรองรับ ส่วนมากเป็นการสร้างความแตกต่างของสินค้าที่เหนือกว่าสินค้าปกติทั่วไป ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกใหม่ เช่น การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ สารสังเคราะห์เร่งการเจริญเติบโต การเลี้ยงสัตว์ที่ไม่หนาแน่น ปล่อยให้สัตว์ได้อยู่กินแบบธรรมชาติมากที่สุด เป็นต้น เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก สารเคมีตกค้างในเนื้อสัตว์ทำให้ก่อเกิดมะเร็งและการดื้อยาปฏิชีวนะ โดยเป็นการสร้างแบรนด์สินค้าของผู้ประกอบการร่วมกับผู้ผลิต เช่น ในประเทศไทย บริษัท เซนทรัลฟู๊ด ร่วมกับบริษัทสามพราน ฟาร์มได้ผลิตเนื้อสุกรธรรมชาติภายใต้แบรนด์ Natural Meat โดยร่วมกับนักวิชาการกรมปศุสัตว์ ทำการวิจัยร่วม ในการพัฒนาเทคนิค Natural Meat ซึ่งในต่างประเทศ การติดฉลากสินค้า “Natural” จะต้องแจ้งว่า natural อย่างไร เช่น เนื้อวัวธรรมชาติ natural beef-Hormone free จากรัฐทัสมาเนียประเทศออสเตรเลียที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เป็นต้น
ในประเทศไทยการผลิตสัตว์ปีก และสุกร เชิงอุตสาหกรรม มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในการเริ่มต้นพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น การสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าเป็นผลผลิตธรรมชาติ จึงเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาก่อนที่จะเป็นสินค้าอินทรีย์ ซึ่งมีมาตรฐานการผลิตที่สูง และมีข้อจำกัดเชิงโครงสร้างในการหาอาหารสัตว์อินทรีย์ได้อย่างพอเพียง
ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
เรียบเรียงโดย : นางสาวสลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ