เมื่อกล่าวถึงควายลุ่มน้ำสะแกกรังหรือควายในจังหวัดอุทัยธานี ลักษณะควายที่มีเป็นอัตลักษณ์ต้องมีลำตัวตัวใหญ่ ยาว ลึก สูง และหนา หากสอบถามเกษตรกรผู้เลี้ยงควายโดยทั่วไปมักจะได้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากได้ควายสายพันธุ์อุทัยธานีมาเลี้ยงและหรือนำน้ำเชื้อมาพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ของตนเอง เพราะจะได้ขายควายในราคาที่สูงกว่าเดิม ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในจังหวัดอุทัยธานีจงมีความภาคภูมิใจและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ควายอุทัยธานีให้ดียิ่งๆขึ้นไป และเชิญชวนให้สมัครเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาพันธุ์ควายไทยด้วยเพื่อติดต่อประสานงาน สร้างความรับรู้ความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการควายไทยอุทัยธานีให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนความเป็นมาของควายลุ่มน้ำสะแกกรังนั้น มีนักวิชาการที่ศึกษาและพัฒนาเส้นทางควาย กำเนิดการเลี้ยงควายในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี พบว่าเป็นควายพื้นถิ่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นความโชคดีที่ในอดีตเกษตรกรได้ทำการคัดเลือกควายที่มีลักษณะรูปร่างสูงใหญ่สำหรับใช้แรงงานในไร่นา เป็นพาหนะลากจูง จึงถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมให้เห็นจนถึงปัจจุบัน  อีกนัยหนึ่งปราชญ์ผู้เลี้ยงควายจังหวัดอุทัยธานีกล่าวว่า ควายสายพันธุ์อุทัยธานีน่าจะมีโอกาสผสมพันธุ์กับควายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้งสืบเนื่องจากการเลี้ยงควายในอดีตเป็นแบบไล่ต้อนจึงได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมจากควายป่ามาด้วย    

จะเห็นได้ว่าจากกระแสของการเลี้ยงควายสวยงามและการได้รับรางวัลต่างๆมากมายจากการประกวดควายไทย ควายลุ่มน้ำสะแกกรังจึงเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยม อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามประวัติควายต่างๆ ที่ชนะจากการประกวดก็พบว่าส่วนใหญ่เป็นควายที่มีเชื้อของควายลุ่มน้ำสะแกกรังเกือบทั้งสิ้น ซึ่งการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ของเกษตรกรมี 2 วิธี  คือ พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ด้วยการใช้พ่อพันธุ์คุมฝูง โดยคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่มีโครงสร้างสูงใหญ่ และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ควายที่มีชื่อเสียงซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นประกอบกับการเลี้ยงควายเป็นการเลี้ยงแบบประณีตจึงทำให้เกษตรกรสามารถจับสัตว์ได้แม่นยำและสามารถเลือกน้ำเชื้อที่ตนเองต้องการได้

ข้อดีของการเลือกใช้วิธีการผสมเทียม คือ (1.) เกษตรกรไม่จำเป็นต้องมีพ่อพันธุ์ที่มีราคาสูง เป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่ยังสามารถปรับปรุงพันธุ์จาก การใช้น้ำเชื้อพ่อที่ต้องการในการผสมพันธุ์ได้ (2.) สามารถกระจายพันธุกรรมของสัตว์พันธุ์ดี/เป็นที่ต้องการ ได้อย่างรวดเร็ว (3.) ลดปัญหาในการเกิดโรคติดต่อในระหว่างการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น โรคปากและ เท้าเปื่อย โรคลัมปีสกิน เป็นต้น  (4.) ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาโรคติดต่อทางระบบสืบพันธุ์ และคุณภาพน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ แนะนำให้เกษตรกร ใช้น้ำเชื้อแช่แข็งของพ่อพันธุ์ ที่ผลิตจากศูนย์น้ำเชื้อมาตรฐาน เนื่องจากพ่อพันธุ์ดังกล่าวต้องผ่านการตรวจโรคที่สามารถติดต่อทางระบบสืบพันธุ์ โรคทางพันธุกรรม และมีการตรวจคุณภาพน้ำเชื้อซึ่งหากเป็นการผสมโดยใช้พ่อพันธุ์จะไม่มีการตรวจลักษณะเหล่านี้

อย่างไรก็ตามหากจะยึดถืออาชีพการเลี้ยงควายให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ควรพิจารณาด้านการเลี้ยงควายในเชิงธุรกิจและการใช้ประโยชน์จากควายประจำถิ่นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการสร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่ไปกับการพัฒนาสายพันธุ์ควายที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น การพัฒนาควายสวยงาม การพัฒนาควายเนื้อเพื่อการบริโภค การอนุรักษ์และพัฒนาการใช้แรงงานจากควาย และการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายควายอย่างมีประสิทธิภาพ

 

                                                                 *********************************************

ข้อมูล : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี

เรียบเรียง : สลิลรัตน์ ชูโชติ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ